แม่และเด็ก

5 อาการที่พบบ่อยในคนท้อง

  • 11 กรกฎาคม 2561

เมื่อผู้หญิงแต่ละคนเริ่มตั้งครรภ์ตั้งแต่สัปดาห์แรกจะมีการแสดงออกของอาการทางร่างกายที่เปลี่ยนแปลงไปจากเดิม ทั้งนี้อาจเป็นผลมาจากการแสดงออกของระบบการป้องกันทารกในครรภ์ให้เติบโตขึ้นได้โดยปราศจากอันตราย ซึ่งคุณแม่มือใหม่ที่ตั้งครรภ์เป็นครั้งแรก หรือคุณแม่ที่เคยตั้งครรภ์มาแล้วก็จะมีอาการในขณะตั้งท้องที่ต่างกันแต่ก็มีอาการที่คล้ายคลึงกัน

ในขณะที่มีอุปกรณ์ตรวจครรภ์ด้วยตัวเองและการอัลตราซาวด์ (Ultrasound) เป็นการตรวจครรภ์ที่ได้ผลลัพธ์ที่ชัดเจน แต่ก็มีสัญญาณอื่นๆ ที่เกิดขึ้นกับร่างกายในระหว่างการตั้งครรภ์ตั้งแต่สัปดาห์แรกไปจนถึงสัปดาห์ที่ 12 หรือบางคนอาจจะไม่มีอาการเลยก็ได้

บทความนี้จะช่วยให้คุณแม่ที่กำลังเริ่มสงสัยว่าตัวเองกำลังจะมีลูกน้อยหรือไม่ ด้วยการสังเกตุอาการที่พบบ่อย 5 ข้อ พร้อมวิธีการดูแลตนเองขณะมีอาการแพ้ท้อง

คนท้องกับ 5 อาการที่พบบ่อย

อาการคนท้อง

   1. ขาดประจำเดือน

หลังจากที่มีการฝังตัวของไข่ที่ผสมแล้วภายในมดลูก ร่างกายจะมีการผลิตฮอร์โมนที่ชื่อว่า Human Chorionic Gonagotropin (hCG) ซึ่งเป็นฮอร์โมนที่ช่วยในการเจริญเติบโตของตัวอ่อน ส่งผลให้รังไข่หยุดการตกไข่ไปชั่วคราวในระหว่างการตั้งครรภ์ทำให้ไม่มีประจำเดือน โดยระยะนี้สามารถตรวจสอบการตั้งครรภ์ได้ด้วยอุปกรณ์ตรวจระดับฮอร์โมน hCG

   2. มีเลือดออกขณะตั้งครรภ์

เมื่อรู้แล้วว่าเรากำลังตั้งครรภ์แต่มีเลือดออกทางช่องคลอดเป็นหยดแต่มีปริมาณไม่มากในระหว่างสัปดาห์แรกถึงสัปดาห์ที่ 4 จะเป็นผลมาจากการฝังตัวของตัวอ่อนที่กำลังจะเจริญเติบโตหรือเรียกว่า ระยะบลาสโตซิสท์ ซึ่งจะเป็นกระบวนการสร้างอวัยวะของตัวอ่อน ส่งผลให้ระยะนี้มีเลือดออกมาปริมาณน้อยและไม่มีอาการปวดท้อง

เลือดที่อออกมาในระยะนี้เกิดขึ้นจากหลอดเลือดเล็กๆ ในโพรงมดลูกแตกออกเนื่องจากการฝังตัวของตัวอ่อน ทำให้เลือดที่ออกมามีลักษณะเป็นสีจางๆ ซึ่งคนโบราณมักจะเรียกว่า เลือดล้างหน้าเด็ก โดยจะมาในวันที่ใกล้เคียงกับประจะเดือนรอบถัดไปและเกิดขึ้นกับผู้หญิงที่ตั้งครรภ์บางคนเท่านั้น และจะไม่มีผลกระทบกับทารกในครรภ์

   3. มีอาการอ่อนเพลีย

ในระหว่างตั้งครรภ์จะส่งผลให้มีอาการอ่อนเพลียและเป็นตะคริวอยู่บ่อยครั้ง ซึ่งเป็นผลมาจากการเพิ่มขึ้นอย่างมากของฮอร์โมนโปรเจสเตอโรน (Progesterone) โดยในช่วงสัปดาห์แรกจะมีความเหนื่อยล้าร่างกายมากเป็นพิเศษ จากหลอดเลือดเกิดการหย่อนตัวทำให้ระดับความดันโลหิตต่ำลงเป็นระยะและมดลูกก็ต้องการเลือดในปริมาณที่เพิ่มมากขึ้น จึงทำให้ปริมาณน้ำตาลในเลือดลดลงส่งผลให้เกิดอาการหน้ามืดและอ่อนเพลียง่าย

แม้ว่าอาการอ่อนเพลียจะเป็นเรื่องปกติสำหรับคุณแม่ที่กำลังตั้งครรภ์ แต่ก็ไม่ควรมองข้ามอาการนี้หากมีอาการอื่นร่วมด้วยเช่นวิงเวียนศีรษะ หรือหายใจไม่ทันก็อาจจะเป็นสาเหตุของโรคโลหิตจากซึ่งส่งผลต่อการตั้งครรภ์ได้

นอกจากอาการอ่อนเพลียแล้วช่วงที่กำลังตั้งครรภ์คุณแม่จะมีอุณหภูมิร่างกายที่สูงขึ้นกว่าปกติเล็กน้อย ในขณะที่นอนพักผ่อนควรทำให้ห้องนอนมีอากาศที่เย็นลงเล็กน้อยและมีอากาศถ่ายเทที่สะดวก เพื่อไม่ทำให้ร่างกายอ่อนแรงและหน้ามืดตามมา

   4. ความรู้สึกไวต่อกลิ่นและความชอบในการกินที่เปลี่ยนไป

ความรู้สึกไวต่อกลิ่นเชื่อว่าเป็นระบบการป้องกันตัวเองของคุณแม่ เมื่อได้กลิ่นที่อาจจะส่งผลต่ออันตรายต่อลูกน้อยก็จะช่วยให้หลีกเลี่ยงการเข้าไปอยู่ในสภาพแวดล้อมนั้นได้ เช่น กลิ่นบุหรี่ กลิ่นควันไฟ เป็นต้น เนื่องจากเมื่อตั้งครรภ์ระบบการได้กลิ่นของแม่จะมีความรวดเร็วและสามารถได้กลิ่นจากในระยะไกลกว่าเดิม

นอกจากการได้กลิ่นแล้วยังส่งผลให้แม่มีความอยากกินอาหารที่เปลี่ยนแปลงไปจากเดิม หรืออาจจะอยากกินของกินที่ไม่ชอบกิน ของที่มีรสชาติแปลกไปจากที่กินปกติ เช่น ของเปรี้ยว ของหมักดอง เป็นต้น

   5. มีอาการแพ้ท้อง

อาการแพ้ท้องเป็นอาการที่ผู้หญิงส่วนใหญ่มักเป็นในช่วง 3 เดือนแรกของการตั้งครรภ์ ด้วยอาการคลื่นไส้อาเจียน ในบางรายอาจถึงขั้นกินอาหารไม่ได้ ซึ่งยังไม่มีผลการพิสูจน์ทางการแพทย์ที่แน่นอนว่าเกิดจากสาเหตุใด แต่ก็มีข้อสันนิษฐานว่าเกิดจากกลไกในร่างกายของแม่ที่ป้องกันไม่ให้กินอาหารมากเกินไปจนทำให้เกิดสิ่งที่เป็นพิษต่อตัวทารกในระหว่างการเจริญเติบโตของตัวอ่อนในช่วงแรก

บางรายมีการแพ้ท้องมากผิดปกติ คือมีอาการคลื่นไส้อาเจียนหนัก จนไม่สามารถกินอาหารหรือดื่มน้ำได้จะทำให้ร่างกายขาดน้ำและระดับเกลือแร่ในเลือดลดลง ซึ่งจะเป็นอันตรายต่อตัวแม่และทารกในครรภ์ได้ โดยอาการแพ้ท้องหนักที่พบบ่อยเกิดจากสาเหตุ เช่น ตั้งครรภ์เป็นครั้งแรก ตั้งครรภ์แฝด แม่มีน้ำหนักตัวมาก เป็นต้น เมื่อพบว่ามีอาการแพ้ท้องหนักควรไปพบแพทย์ทันที

สำหรับคุณแม่บางคนจะพบว่าตนเองนั้นไม่มีอาการแพ้ท้องเลย นั่นไม่ได้หมายความว่าการตั้งครรภ์มีการผิดปกติแต่อย่างใด และไม่ได้ส่งผลกระทบอะไรต่อการเจริญเติบโตของทารกในครรภ์ด้วย

ดูแลตัวเองอย่างไรเมื่อมีอาการแพ้ท้อง

อาการคนท้อง

อาการแพ้ท้องส่งผลให้ร่างกายอ่อนเพลียจากการอาเจียน รวมถึงการรับรสและได้กลิ่นที่มากขึ้นก็ส่งผลให้กินอาหารได้น้อยลงหรืออาจจะกินไม่ได้เลย มาดูกันว่ามีวิธีการใดบ้าง

  • ทิ้งความเครียดเอาไว้ก่อน เนื่องจากความเครียดจะส่งผลให้อาการแพ้ท้องรุนแรงขึ้นได้
  • การกินผลไม้รสเปรี้ยวช่วยลดอาการขมปากจากการอาเจียนบ่อยๆ ได้ จะส่งผลคุณแม่รู้สึกเจริญอาหารมากขึ้น
  • เมื่อพบว่าตนเองเริ่มกินอาหารได้น้อยลง ให้แบ่งมื้ออาหารให้กินบ่อยขึ้นแต่กินในปริมาณที่น้อย เพื่อป้องกันการขาดสารอาหาร
  • อาการแพ้ท้องของแต่ละคนมีความแตกต่างกัน ควรมองหาว่าอะไรเป็นสิ่งที่กระตุ้นให้เราเกิดอาการแพ้ท้องได้ ซึ่งอาจจะเป็นกลิ่นอาหารบางอย่าง หรือกลิ่นน้ำหอมก็ได้
  • นอนหลับพักผ่อนให้เต็มอิ่มในเวลากลางคืนประมาณ 8-10 ชั่วโมง นอนงีบในช่วงเวลากลางวัน และไม่หักโหมในการทำงานหรือออกกำลังกาย
  • จิบน้ำอุ่นหรือน้ำขิงอุ่นๆ จะช่วยบรรเทาอาการปวดท้อง ท้องอืด และอาการคลื่นไส้ได้เป็นอย่างดี
  • เมื่อพบว่ามีอาการแพ้ท้องหนักจนกินอาหารไม่ได้ ไม่ควรซื้อยามากินเอง ควรไปพบแพทย์เพื่อรับการรักษาที่ถูกต้อง

สรุป

อาการต่างๆ ในขณะตั้งครรภ์อยู่จะพบได้ในคุณแม่ส่วนมากซึ่งจะมีความรุนแรงที่แตกต่างกันออกไปตามแต่ละบุคคล ในบางคนอาจจะไม่มีอาการแพ้ท้องเหมือนกับคนอื่นๆ ก็ได้ แต่ท้ายที่สุดแล้วอาการเหล่านี้จะหายเองตามธรรมชาติหลังจากคลอดลูกแล้ว ดังนั้นจึงไม่ควรกังวลมากเกินไปเมื่อเกิดอาการเหล่านี้ ถ้าไม่มั่นใจสามารถปรึกษาแพทย์ที่ดูแลอยู่ก็จะช่วยกันหาทางออกของอาการได้เช่นกัน

แต่เมื่อพบว่าอาการที่เป็นอยู่มีความรุนแรงและผิดปกติอย่างมากก็ควรเข้าพบแพทย์อย่างทันที เพราะอาการเหล่านั้นอาจส่งผลเสียกับแม่และทารกในครรภ์ได้หากละเลยไป

[แม่และเด็ก]
© DEPARTMENT OF HEALTH : MINISTRY OF PUBLIC HEALTH