อนามัยสิ่งแวดล้อม

ร้อนจัด ระวังโรคลมเเดด

  • 10 กันยายน 2562

อากาศก็ร้อน แสงแดดก็แรงในฤดูร้อนไม่เหมาะกับการทำงานหรือออกกำลังกายกลางแดดนานๆ เพราะเสี่ยงเป็นโรคลมแดด

โรคลมแดด  หรือฮีทสโตรก  (Heat  Stroke)  เกิดจากร่างกายได้รับความร้อนมากเกินไป ร่างกายปรับอุณหภูมิได้ไม่ทัน อุณหภูมิร่างกายสูงกว่า 40 องศาเซลเซียส รวมถึงการขาดน้ำและเกลือแร่ร่วมด้วยเป็นเวลานานในกลุ่มหญิงตั้งครรภ์ เด็ก ผู้สูงอายุ และคนอ้วนเป็นกลุ่มเสี่ยงที่ต้องดูแลสุขภาพ ตนเองเป็นพิเศษ

สัญญาณสำคัญของโรคนี้ คือ ไม่มีเหงื่อออก ตัวร้อนจัดขึ้น ต่างจากการเพลียแดดทั่วไปที่จะมีเหงื่อออกด้วย ผู้ที่เป็นฮีทสโตรกจะกระหายน้ำมาก อ่อนเพลีย เมื่อยล้า คลื่นไส้ อาเจียน ปวดศีรษะ ความดันต่ำ หน้ามืด หายใจเร็ว และอาจรุนแรงถึงขั้นเพ้อ ชัก ไม่รู้สึกตัว ตับและไตวาย หัวใจเต้นผิด จังหวะ ทำให้ช็อก หมดสติ และถึงขั้นเสียชีวิต

การหลีกเลี่ยงทำงานหรือออกกำลังกายกลางแดดในวันที่อากาศร้อนจัดเปลี่ยนเป็นในโรงยิม  หรือในช่วงเช้าและช่วงเย็น  นอนพักผ่อนให้เพียงพอ ดื่มน้ำให้เพียงพอ  6-8 แก้วต่อวัน  และหลีกเลี่ยงเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ทุกชนิด  จะป้องกันภาวะขาดน้ำได้  เมื่อต้องออกจากบ้านควรสวมเสื้อผ้าสีอ่อน ไม่หนา น้ำหนักเบา และระบายความร้อนได้ดี และใช้โลชั่นกันแดดที่มีค่า SPF มากกว่า 15 ทุกครั้ง

เด็กเล็ก หญิงตั้งครรภ์ ผู้สูงอายุ และคนอ้วน ควรดูแลให้อยู่ในสภาพแวดล้อมหรือพื้นที่ที่มีอากาศถ่ายเทสะดวก ไม่ควรให้ผู้สูงอายุและคนอ้วน ออกกำลังกายกลางแจ้งหรือทำกิจกรรมที่เหนื่อยเกินไปจนถึงขั้นหอบ หญิงมีครรภ์หากต้องเดินทางไกลควรมีผู้ดูแลร่วมเดินทางอย่างใกล้ชิดและป้องกัน อุบัติเหตุหากมี อาการหน้ามืด วิงเวียน หรือเป็นลมเมื่อพบอากาศที่ร้อนจัดภายนอก

© DEPARTMENT OF HEALTH : MINISTRY OF PUBLIC HEALTH

ดาวน์โหลด eBook สุขภาพ

แหล่งข้อมูลความรู้เกี่ยวกับสุขภาพพร้อมให้คุณดาวน์โหลดไปศึกษาฟรี!