เนื่องในวันนอนหลับโลกที่จะถึงในวันที่ 8 มีนาคม 2567 นี้ ด้วยรักและห่วงใย สุขภาพการนอนของทุกคน กรมอนามัย จึงขอแนะนำ ชม.การนอนที่เหมาะสม ตลอด 3 วันนี้
เนื่องจากการนอนหลับเพียงพอและมีสุขอนามัยการนอนหลับที่ดีทุกช่วงวัยส่งผลต่อการเจริญเติบโตของร่างกายและสมอง ตั้งแต่ทารกในครรภ์มารดา เด็กปฐมวัย เด็กวัยเรียน โดยเฉพาะในกลุ่มวัยรุ่น ผู้ใหญ่ และวัยผู้สูงอายุ มีผลต่อสุขภาพการทำงานของระบบภูมิคุ้มกัน และโรคประจำตัว นอกจากนี้ การนอนหลับที่ไม่เพียงพอ หรือโรคของการนอนหลับเป็นปัจจัยสำคัญที่ก่อให้เกิดปัญหาภาวะภูมิต้านทานต่ำ และเพิ่มโอกาสเกิดอุบัติเหตุบนท้องถนนได้ ทุกกลุ่มวัย จึงต้องให้ความสำคัญต่อการนอนที่เพียงพอ มีสุขอนามัยการนอนหลับที่ดี และมีระยะเวลาในการนอนที่เหมาะสม ในแต่ละวัย (อ้างอิง : สมาคมโรคจากการหลับแห่งประเทศไทย)
เพราะแต่ละวัยมีชั่วโมงการนอนแตกต่างกันไป ขึ้นอยู่กับพันธุ์กรรม บางคนนอน 5 ชม. ก็รู้สึกสดชื่นขึ้น ขณะที่บางคนนอน 10 ชม. ถึงจะรู้สึกสดชื่น ดังนั้นการนอนที่เหมาะสม ขึ้นอยู่กับว่า เมื่อเราตื่นขึ้นมาแล้ว รู้สึกสดชื่นกระปรี้กระเปร่า สามารถใช้ชีวิตอย่างมีความสุขเต็มที่ได้ตลอดวันต่างหากที่ดี
โดย ระยะการนอนหลับแต่ละช่วงวัย ตาม National Sleep Foundation เริ่มจาก วัยแรกเกิด จนถึงอายุ 2 ปี ดังนี้
1. เด็กแรกเกิด 0-3 เดือน : ควรนอนหลับ 14-17 ชม./วัน และอาจนอนหลับมากถึง 18-19 ชม./วัน
2. เด็กแรกเกิด 4-11 เดือน : ควรนอนหลับ 12-15 ชม./วัน โดยมีการนอนกลางวัน 3-4 ครั้ง และอาจนอนหลับมากถึง 16-17 ชม./วัน
3. เด็กอายุ 1-2 ปี : ควรนอนหลับ 11-14 ชม./วัน โดยมีการนอนกลางวัน 1 ครั้ง และอาจนอนหลับมากถึง 15-16 ชม./วัน
เกร็ดความรู้เพิ่มเติม : เตียงนอนที่ปลอดภัย ควรคำนึงถึงสิ่งเหล่านี้เป็นสำคัญ แยกที่นอนมาอยู่ด้านข้างผู้ใหญ่ด้วยระยะห่างประมาณเอื้อมมือถึง ไม่ควรนอนระหว่างหรือติดชิดกับผู้ใหญ่ เพราะอาจเผลอนอนทับเด็กจนหายใจไม่ออก หรือ โดนผ้าห่ม หมอนของพ่อแม่ทับโดยไม่รู้ตัว
ด้วยรักและห่วงใย สุขภาพประชาชน กรมอนามัย หวังว่าทุกคนสามารถนอนหลับ อย่างมีความสุข ไม่มากและไม่น้อยเกินไป เพื่อสุขภาพการนอนที่ดี และอย่าลืมกินอาหารให้ถูกหลักอนามัย เสริมด้วยการออกกำลังควบคู่กันไปด้วยนะคะ
อย่าลืมกดติดตาม Facebook กรมอนามัย เพื่อติดตามซีรีย์ “ต่างวัย (นอน) แตกต่าง กับ 2 ช่วงวัยที่เหลือ” และสาระสุขภาพจากเรานะคะ
ข้อมูลโดย : กองกิจกรรมทางกายเพื่อสุขภาพ