การดูแลสุขภาพเด็กถือเป็นเรื่องสำคัญ ยิ่งเด็กที่มีภูมิต้านทานต่ำยิ่งต้องดูแลเป็นพิเศษ โดยเฉพาะในช่วงฤดูฝน นอกจากจะต้องระวังไข้หวัด โรคทางเดินหายใจ และไข้เลือดออกแล้ว โรคมือ เท้า ปาก เป็นอีกหนึ่งโรคที่ต้องเฝ้าระวังจริงจัง และป้องกันได้ ถ้าคุมเข้มและปฏิบัติตนอย่างถูกวิธี
โรคมือ เท้า ปาก เกิดจากการติดเชื้อไวรัสหรือเอนเทอโรไวรัสหลายชนิด ซึ่งมักเกิดในกลุ่มเด็กอายุ 1-3 ปี ที่อยู่ร่วมกันจำนวนมาก ทั้งในศูนย์เด็กเล็ก หรือโรงเรียน โดยเชื้อจะติดมากับมือหรือของเล่นที่เปื้อนน้ำมูก น้ำลาย น้ำจากตุ่มพอง แผล และอุจจาระของผู้ป่วย หรือเกิดจากการไอจามรดกัน หากไม่ เฝ้าระวังอาจเกิด การแพร่ระบาดโรคได้
เด็กที่ได้รับเชื้อดังกล่าว จะแสดงอาการหลังได้รับเชื้อ 3-6 วัน โดยจะมไข้ หรือเกิดจุดและผื่นแดงที่ลิ้น เหงือก กระพุ้งแก้ม มีตุ่มที่ฝ่ามือ ฝ่าเท้า อาจเจ็บปาก น้ำลายไหล ตุ่มที่เกิดขึ้นนี้จะกลายเป็นตุ่มพองใสบริเวณรอบๆ จากนั้นจะอักเสบแดง และแตกออกเป็นแผลหลุมตื้นๆ อาการจะทุเลาและหาย เป็นปกติภายใน 7-10 วัน แต่หากพบอาการรุนแรง เช่น มีไข้สูง ซึม ชัก อาเจียนบ่อย หอบเหนื่อย แขน ขา อ่อนแรง ต้องรีบพาเด็กไปพบแพทย์ทันที
ศูนย์เด็กเล็กและโรงเรียน เป็นจุดเสี่ยงของการเกิดโรค ควรตรวจคัดกรองเด็กทุกวัน หากพบเด็กมีไข้หรือมีอาการที่สงสัยว่าจะเป็นโรคมือ เท้า ปาก ให้หยุดเรียน สำหรับครูพี่เลี้ยง พ่อแม่ ผู้ปกครอง ให้ปฏิบัติตามมาตรการกรมอนามัยในการเฝ้าระวังโรคมือ เท้า ปาก ด้วยหลัก 4 ร. คือ
ร. รักษาความสะอาด
สถานที่ บ้าน โรงเรียน และศูนย์เด็กเล็ก เน้นห้องน้ำ ห้องส้วม ของใช้ ของเล่น ภาชนะที่เด็กใช้ร่วมกัน โดยใช้น้ำยาทำความสะอาดที่มีส่วนผสมของคลอรีน หรือน้ำยาทำความสะอาด ที่ใช้ตามบ้านเรือน
ร. รักษาสุขอนามัย
ควรจัดหาอุปกรณ์ให้เด็กได้ล้างมือด้วยน้ำ และสบู่ก่อนกินนอาหารและหลังขับถ่าย รวมทั้ง จัดเตรียมเครื่องใช้ของเด็กแยกเป็นรายบุคคล ไม่ให้ใช้ร่วมกัน
ร. รู้ทัน
ให้สังเกตอาการเด็กมีไข้ มีจุดหรือ ผื่นแดง บริเวณมือ เท้า ปากหรือไม่
ร. รู้ระวัง
เด็กที่ไข้สูง หอบเหนื่อย ซึม และ กล้ามเนื้อ อ่อนแรง ให้รีบพบแพทย์ทันที โรคมือ เท้า ปาก เป็นโรคที่ป้องกันได้ หากมีความรู้ ความเข้าใจ และเฝ้าระวังด้าน สุขอนามัยที่ดี
ที่สำคัญ ทุกฝ่ายต้องช่วยสังเกต อาการเด็กอย่างใกล้ชิด
[แม่และเด็ก]