แม่และเด็ก

นับวันไข่ตกอย่างไรไม่ให้พลาด

  • 25 มิถุนายน 2561

รอบเดือนกับการตกไข่เป็นเรื่องใกล้ตัวของผู้หญิงหลายคน การนับวันตกไข่สำหรับผู้หญิงเป็นตัวช่วยที่ดีสำหรับการวางแผนความพร้อมในการตั้งครรภ์ และเนื่องจากการตกไข่จะเกิดขึ้นเดือนละครั้งเท่านั้น ทำให้ต้องมีการวางแผนที่ดีสำหรับคนที่มีความพร้อมจะเป็นคุณแม่

การตั้งครรภ์นั้นจะเกิดขึ้นได้เมื่ออสุจิเข้าไปปฏิสนธิกับไข่ในช่วงวันตกไข่ เมื่อมีการนับวันตกไข่ที่แน่นอนสำหรับผู้หญิงแต่ละคนแล้ว ก็จะช่วยกำหนดวันมีเพศสัมพันธ์ที่มีโอกาสมีลูกมากขึ้น เพราะในช่วงวันที่ตกไข่จะเป็นช่วงที่อสุจิสามารถเข้าไปปฏิสนธิกับเซลล์ไข่ได้ตามธรรมชาติและส่งผลให้มีโอกาสตั้งครรภ์ได้เพิ่มขึ้น

ทำความเข้าใจกับการตกไข่ในผู้หญิง

นับวันไข่ตก

“ผู้หญิงแต่ละคนจะมีไข่ติดตัวมาตั้งแต่กำเนิดถึง 1 ล้านใบ”

ผู้หญิงที่เข้าสู่วัยรุ่นในแต่ละเดือนจะมีการตกไข่เดือนละ 1 ครั้ง ซึ่งเซลล์ไข่นี้ถูกสร้างตั้งแต่ยังเป็นทารกอยู่ในครรภ์ถึง 6-7 ล้านฟอง แต่เมื่อทารกเพศหญิงคลอดออกมาแล้วจะเหลือไข่เพียง 2 ล้านฟอง เมื่อเข้าสู่วัยรุ่น เซลล์ไข่เหล่านั้นจะเหลือเพียง 2-5 แสนฟอง และจะมีเซลล์ไข่ที่ทำให้ตั้งครรภ์ได้เพียง 400-500 ฟองเท่านั้น

การคัดเลือกเซลล์ไข่ในแต่ละเดือนเป็นผลมาจากฮอร์โมนที่ควบคุมการตกไข่ คือเอสโตรเจน โปรเจสเตอโรน แอลเอช (LH – Luteinozing Hormone) และเอฟเอสเอช (FSH – Follicle Stimulating Hormone) โดยหลังจากวันที่ 5 ของรอบเดือน ฟองไข่จะเจริญเติบโตอยู่ในถุงรังไข่ประมาณ 15-20 ฟอง ก่อนจะถูกคัดเลือกให้เหลือ 1 ใบที่สมบูรณ์ที่สุด

ในแต่ละเดือนรังไข่ทั้ง 2 ข้างจะสลับกันตกไข่ เวลาผ่านไปในวันที่ 14 ของรอบเดือน ไข่ที่ถูกคัดเลือกแล้วจะหลุดออกมาจากถุงรังไข่ รอการปฏิสนธิอยู่บริเวณท่อนำไข่ เรียกว่า “การตกไข่” เมื่อได้รับการผสมก็จะเคลื่อนตัวไปฝังอยู่ที่ผนังมดลูกเพื่อเติบโตเป็นทารก

เมื่อผ่านการตกไข่ไปแล้ว 14 วันแต่ไม่มีการผสมของอสุจิในช่วงวันตกไข่ ผนังมดลูกที่รอรับการฝังตัวจะสลายตัวแล้วไหลออกทางช่องคลอดกลายเป็น “ประจำเดือน” นั่นเอง

นับวันตกไข่อย่างไรให้ได้ผล

นับวันไข่ตก

ไข่ที่ตกจะรอปฏิสนธิอยู่ที่ปลายท่อนำไข่ 12-24 ชั่วโมงเท่านั้น ทำให้การนับวันตกไข่ก็ไม่ควรพลาดเช่นกัน เพราะถ้าในเดือนนี้พลาดแล้วล่ะก็ จะต้องรอการตกไข่รอบใหม่ในอีก 1 เดือน การนับวันตกไข่มีได้หลายวิธีทั้งการนับวันรอบเดือนด้วยตัวเองและการใช้ชุดตรวจการตกไข่ซึ่งมีหลายรูปแบบ

การนับวันตกไข่ด้วยตัวเอง

ปฎิทินนับวันไข่ตก

สำหรับผู้หญิงที่มีประจำเดือนมาตามปกติ การนับวันตกไข่จะค่อนข้างแม่นยำ โดยปกติแล้วผู้หญิงจะมีรอบเดือนทุก 28 วัน โดยให้นับหลังจากวันที่ประจำเดือนมาเป็นวันที่ 1 ซึ่งวันที่ 14 จะเป็นวันที่ตกไข่ ถ้าต้องการให้มีลูกก็ให้มีเพศสัมพันธ์ประมาณ 1-2 วันก่อนไข่ตก เนื่องจากอสุจิจะรอปฏิสนธิอยู่ในรังไข่ได้ประมาณ 2  วัน ซึ่งจะพอดีกับวันตกไข่

การใช้ชุดตรวจการตกไข่

ชุดตรวจการตกไข่จะมีลักษณะการให้ผลคล้ายกับที่ตรวจครรภ์ คือการตรวจด้วยปัสสาวะเพื่อคาดคะเนการตกไข่ได้อย่างแม่นยำกว่าการนับวันตกไข่ด้วยตัวเอง เหมาะสำหรับผู้หญิงที่มีประจำเดือนไม่สม่ำเสมอในแต่ละเดือน

การให้ผลของชุดตรวจนี้มาจากฮอร์โมนที่กระตุ้นการตกไข่ชื่อว่า แอลเอช (LH – Luteinozing Hormone) และระยะเวลาที่เหมาะสมกับการใช้อุปกรณ์นี้คือช่วงหลังจากมีประจำเดือนประมาณ 10-12 วัน โดยระยะเวลาที่เหมาะสมกับการตรวจคือการปัสสาวะในช่วงบ่ายโมงถึง 2 ทุ่ม เพราะปัสสาวะจะมีความเข้มข้นของแอลเอชมากที่สุด

ผลตรวจของอุปกรณ์ตรวจการตกไข่จะให้ผลเป็นขีด 2 ขีดบนชุดตรวจที่มีทั้งแบบ ชุดตรวจแบบจุ่มลงในถ้วยปัสสาวะ (Strip) ชุดตรวจสอบแบบหยดปัสสาวะลงบนอุปกรณ์ (Cassette) และแบบปัสสาวะผ่านชุดตรวจสอบ (Midstream)

สัญญาณที่ร่างกายแสดงออกว่ากำลังจะตกไข่

สัญญาณบอกอาการไข่ตก

“ในระยะเวลาตกไข่ผู้หญิงบางคนอาจมีหยดเลือดออกจากมดลูกเล็กน้อย”

นอกจากการนับวันตกไข่ด้วยการจดบันทึกหรือการใช้อุปกรณ์ช่วยนับวันตกไข่แล้ว การตกไข่ยังสามารถสังเกตได้จากการเปลี่ยนแปลงของร่างกายและอารมณ์ซึ่งในแต่ละคนจะมีการอาการที่แตกต่างกันขึ้นอยู่กับสภาวะแวดล้อม อาหาร และการพักผ่อน

7 สัญญาณที่บ่งบอกว่าคุณกำลังจะมีการตกไข่
     1. มูกที่ปากมดลูก (Cervical mucus) 

อิทธิพลของฮอร์โมนโปรเจสเตอโรน (Progesterone) ส่งผลให้มูกที่ปากมดลูกซึ่งมีลักษณะคล้ายไข่ขาวดิบมีความข้นเหนียวและยืดหยุ่นมากขึ้น ซึ่งจะมีคุณสมบัติในการนำพาอสุจิให้เข้าไปปฏิสนธิกับไข่ได้สะดวกขึ้น

     2. การเพิ่มขึ้นของอารมณ์ทางเพศ 

ธรรมชาติของผู้หญิงในขณะตกไข่จะส่งผลให้มีอารมณ์ทางเพศเพิ่มมากขึ้น และส่งผลให้มีเลือดมาหล่อเลี้ยงบริเวณช่องคลอดรวมถึงการสร้างของเหลวหล่อลื่นมากเป็นพิเศษเพื่อช่วยให้มีเพศสัมพันธ์ได้ง่ายขึ้น นอกจากนี้ยังส่งผลให้ผู้หญิงทางด้านรูปร่างให้ดูเซ็กซี่เพิ่มยิ่งขึ้น

     3. อุณหภูมิร่างกายที่เพิ่มขึ้น 

ในระหว่างการตกไข่ร่างกายจะมีฮอร์โมนโปรเจสเตอโรน (Progesterone) สูงขึ้นส่งผลให้อุณหภูมิร่างกายสูงขึ้นเล็กน้อยประมาณ 0.5 องศาเซลเซียส โดยสามารถวัดได้ด้วยปรอทวัดไข้หลังตื่นนอนก่อนทำกิจกรรมใดๆ และจดบันทึกอุณหภูมิร่างกายไว้ในช่วงระหว่างก่อนวันตกไข่จะพบว่าอุณหภูมิร่างกายสูงขึ้นกว่าปกติในวันที่ตกไข่ และควรวัดอย่างน้อย 2-3 เดือนเพื่อดูแนวโน้มที่ชัดเจนของวันตกไข่

     4. ตำแหน่งของปากมดลูก 

ในช่วงของการตกไข่จะทำให้ปากมดลูกเปลี่ยนต่ำแหน่งเลื่อนสูงขึ้นและมีความอ่อนนุ่มเป็นพิเศษ

     5. มีอาการเจ็บคัดเต้านม 

การมีอาการเจ็บคัดที่เต้านม จะไม่สามารถบ่งบอกว่าคุณผู้หญิงกำลังอยู่ในช่วงตกไข่ได้อย่างแม่นยำ เนื่องจากอาการเจ็บตึงที่เต้านมอาจเกิดจากสาเหตุอื่นได้เช่นกัน

     6. ผลึกน้ำลายมีลักษณะเป็นรูปใบเฟิร์น 

เป็นการทดสอบผลึกน้ำลายด้วยกล้องจุลทรรศน์กำลังขยาย 50 เท่า เมื่อแตะนำ้ลายลงบนเลนส์และทิ้งไว้ให้แห้ง ถ้าอยู่ในช่วงของวันตกไข่ผลึกน้ำลายจะมีลักษณะเป็นรูปใบเฟิร์นอย่างชัดเจน ซึ่งเป็นผลจากความเข้นข้นของ Electrolytes ในน้ำลายทำให้เกิดผลึกรูปใบเฟิร์นขึ้นมา 

     7. ปวดท้องน้อยข้างเดียว 

ผู้หญิงหลายคนมักพบปัญญาหาการปวดท้องน้อยข้างเดียวในขณะที่มีการตกไข่ เนื่องจากในรังไข่จะมีการเปลี่ยนแปลงสภาพให้เหมาะสมกับการฝังตัวของตัวอ่อนของทารก แต่เมื่อไม่มีการปฏิสนธิผนังภายในรังไข่จะมีการหลุดลอกส่งผลให้ปวดท้องน้อยได้มากขึ้น

สรุป

การนับวันตกไข่เป็นหนึ่งวิธีการเพิ่มโอกาสให้มีลูกได้มากขึ้น แต่นั่นไม่ได้หมายความว่าจะมีโอกาสตั้งครรภ์ได้ 100% เสมอไป เนื่องจากการตกไข่ในผู้หญิงแต่ละคนมีความแตกต่างกันของจำนวนวัน และยังมีเรื่องของภาวะความเครียด การกิน การทำกิจกรรมต่างๆ ที่ส่งผลให้การตกไข่ในแต่ละเดือนนั้นไม่แม่นยำเสมอไป

สำหรับคุณผู้หญิงที่มีการนับวันตกไข่ได้ค่อนข้างแม่นยำ แต่ยังมีปัญหาในเรื่องของการมีบุตรยากควรปรึกษาแพทย์โดยตรงเพื่อรับคำปรึกษาทั้งสามีและภรรยาเพื่อวิเคราะห์ปัญหาของสภาพร่างกาย

[แม่และเด็ก]
© DEPARTMENT OF HEALTH : MINISTRY OF PUBLIC HEALTH

ดาวน์โหลด eBook สุขภาพ

แหล่งข้อมูลความรู้เกี่ยวกับสุขภาพพร้อมให้คุณดาวน์โหลดไปศึกษาฟรี!