ในอดีตที่ผ่านมา ส้วมเป็นปัญหาพื้นฐานที่สำคัญทางด้านสุขาภิบาลสิ่งแวดล้อมของประเทศไทย กระทรวงสาธารณะสุขโดยกรมอนามัย จึงได้เริ่มดำเนินการเพิ่มปริมาณและการใช้ส้วมอย่างจริงจัง จนกระทั่งปัจจุบันได้ มุ่งเน้นไปที่กลุ่มผู้สูงอายุ และประชากรที่กำลังจะก้าวสู่วัยชราให้ได้รับการดูแลเข้าถึงการใช้ รวมทั้งมุ่งการต่อยอดสิ่งปฏิกูลให้มีมูลค่าเพิ่มขึ้น หวังให้ไทยก้าวสู่การเป็นต้นแบบของส้วม
ในปี 2548 จนถึงปัจจุบันเรียกว่าเป็นหนึ่งทศวรรษแห่งส้วมสาธารณะไทย เพราะหลังจากบรรลุผลด้านปริมาณและความพร้อมแล้วทางกรมอนามัยจึงมุ่งเน้นเรื่องส้วมสาธารณะมากขึ้น ในปีเริ่มต้นนั้นได้สำรวจส้วมสาธารณะพบว่ามีอยู่เพียงร้อยละ 9 ที่เป็นส้วมที่ถูกสุขลักษณะ แต่ตอนนี้พบส้วมที่มีความพร้อมถึงร้อยละ 70แล้ว ซึ่งในอนาคตอันใกล้มีความพยายามทำให้ส้วมสาธารณะดีขึ้นเรื่อยๆสอดคล้องกับคุณภาพชีวิตทั้งคนทั่วไป และโดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้สูงอายุ
ส้วมผู้สูงอายุ ลดความเสี่ยง เพิ่มความสุข ส้วมผู้สูงอายุนั้นมีลักษณะพิเศษคล้ายคลึง กับส้วมผู้พิการ คือต้องการความช่วยเหลือ จึงต้องมีเครื่องมือช่วยเหลือ เช่น ไม้พยุง ราวจับ มีพื้นที่กว้างขวางเพียงพอหรือประตูกว้างใหญ่เป็นพิเศษเป็นต้น และไม่ใช่เพียงจะรณรงค์ส้วมสำหรับผู้สูงอายุภายนอกหรือในพื้นที่สาธารณะเท่านั้นแต่ต้องให้ความสำคัญส้วมในครัวเรือนด้วยการรณรงค์ส้วมปลอดภัยสำหรับผู้สูงอายุนั้น เราใช้แคมเปญว่า “ส้วมกตัญญู”ความหมายบ่งชี้ถึงการปลูกจิตสำนึกไปในตัวว่าคุณลงทุนอะไร หรือซื้อของขวัญให้พ่อแม่ด้วยมูลค่ามากมายนั้น เทียบไม่ได้เลยกับเวลาที่ท่านลื่นล้มในห้องน้ำต้องเจ็บป่วย เสียเงินเป็นแสนเป็นล้านในการรักษาพยาบาล ซ้ำร้ายกว่านั้นอาจสมองพิการหรือซึ่งไม่คุ้มกันเลย เพราะฉะนั้น ทำไมเราไม่ทำส้วมที่เหมาะสมสำหรับท่านเป็นของขวัญ ให้ส้วมช่วยดูแลท่านอีกแรงหนึ่งทั้งยังเป็นการสร้างหลักประกันสำหรับตัวเองในอนาคต ว่าเมื่อแก่ตัวลงเราจะมีส้วมที่ดีใช้ดังนั้นส้วมผู้สูงอายุจึงเป็นประเด็นที่ต้องให้ความสำคัญอย่างยิ่ง จากสถิติพบว่ากว่าร้อยละ 90 ผู้สูงอายุมีปัญหาข้อเข่าเสื่อม ระยะหลังพบว่าอัตราผู้มีข้อเข่าเสื่อมมีอายุลดลงทุกปี เพราะฉะนั้นจะมุ่งสร้างส้วมเพื่อผู้สูงวัยในอนาคตเพียงอย่างเดียวไม่ได้ จำเป็นต้องสร้างส้วมเพื่อป้องกันข้อเข่าเสื่อมจากการใช้ชีวิตประจำวัน จึงต้องสร้างส้วมที่สามารถเปลี่ยนพฤติกรรมดูแลสุขภาพด้วยการใช้ส้วมนั่งราบ แบบการนั่งบนเก้าอี้นั่งห้อยขา หรือที่หลายคนรู้จักกันดีว่าเป็นส้วมชักโครก ทดแทนการนั่งยอง ซึ่งตอนนี้มีปริมาณส้วมนั่งราบเพิ่มขึ้นกว่าร้อยละ 13 แล้วถ้าสามารถป้องกันไม่ให้ประชากรเป็นโรคข้อเข่าเสื่อมได้ และยังดูแลผู้สูงอายุพร้อมกันไปด้วย จึงมีข้อเสนอในคณะรัฐมนตรีว่า ควรส่งเสริมให้มีส้วมนั่งราบและส่งเสริมให้มีส้วม ผู้สูงอายุมากขึ้น มีการจัดที่ทางเฉพาะ สถานที่ที่ผู้สูงอายุไปบ่อยที่สุด นั่นคือ วัด จากการสำรวจพบส้วมดีเพียงร้อยละ 30 เท่านั้น กรมอนามัยจึงพยายามทำส้วมนั่งราบ หรือ ส้วมห้อยขาเพื่อให้เข้าใจง่ายขึ้น หวังป้องกันข้อเข่าเสื่อมและรณรงค์ด้านสุขลักษณะ ทั้งความปลอดภัย ความสะอาดและคำนึงถึงสรีระวิทยาให้กับผู้สูงอายุ
ส้วมไทย มุ่งใช้เทคโนโลยีเพิ่มมูลค่าสิ่งปฏิกูล หลังจากปี 2558 เป้าหมายจะไม่มุ่งเน้นที่ปริมาณหรือความครอบคลุมอย่างเดียว แต่ให้ความสำคัญกับคุณภาพชีวิตจากการใช้บริการจากส้วมให้มากขึ้น ซึ่งเป็นทิศทางดำเนินการต่อไปในขณะเดียวกันก็จะยังสนับสนุนให้มีปริมาณส้วมมากขึ้นเป็นร้อยละ 80-90 และคนไทยใช้ส้วมอย่างถูกต้องเพิ่มขึ้นไปเรื่อยๆ และส้วมจะต้องสอดคล้องกับวิถีชีวิต ทั้งนี้ยังมีอีกหนึ่งประเด็นที่น่าจับตามองคือการต่อยอดมูลค่าจากสิ่งปฏิกูล ซึ่งเป็นที่รังเกียจของทุกคน แต่นักวิจัยทั่วโลกกลับให้ความสนใจว่ามีคุณค่าเป็นปุ๋ยได้ สอดคล้องกับพระราชดำรัสในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระองค์ทรงตรัสถึงการใช้ประโยชน์จากสิ่งปฏิกูลเมื่อหลายสิบปีก่อนนั้น โดยกรมอนามัยได้สนองพระราชดำรัสด้วยการนำไปหมักเพื่อฆ่าไข่พยาธิแล้วนำมาทำเป็นปุ๋ย การเพิ่มมุมมองใหม่ในการใช้สิ่งปฏิกูลให้เกิดประโยชน์ได้กลายเป็นแนวคิด “ส้วมสมัยใหม่”