แม่และเด็ก

4 ความเชื่อผิดๆ เกี่ยวกับโภชนาการสำหรับเด็กในวัยเรียน

  • 30 กรกฎาคม 2561

ความเชื่อเกี่ยวกับอาหารเกิดขึ้นได้หลายรูปแบบทั้งจากการฟังปากต่อปากหรือการรับชมจากสื่อต่างๆ แต่หลายคนก็อาจยังไม่รู้ว่าการที่เด็กขาดหรือได้รับสารอาหารเหล่านั้นมากเกินไปจะทำให้เกิดผลเสียต่อการเจริญเติบโตของเด็กได้

ซึ่งเด็กวัยเรียนในช่วงอายุ  6-12 ปี เป็นวัยที่กำลังเตรียมพร้อมเข้าสู่ช่วงการเจริญเติบโตทั้งร่างกาย อารมณ์ สังคม สติปัญญาและจิตใจ จึงต้องได้รับการดูแลที่เหมาะสมกับช่วงวัย ซึ่งนอกจากการดูแลสภาพแวดล้อมของเด็กให้พร้อมเรียนรู้กับโลกกว้างแล้ว เรื่องอาหารการกินก็เป็นอีกสิ่งสำคัญที่จะช่วยเสริมสร้างพัฒนาการของเด็กให้พร้อมเติบโตได้อย่างสมบูรณ์

มาดูกันว่ามีความเชื่อผิดๆ เกี่ยวกับการให้เด็กทานอาหารแบบไหนบ้างที่ส่งผลเสียต่อเด็กในวัยเรียน

1. กินแต่ข้าวกับเนื้อสัตว์ปรุงสุกเยอะๆ ถึงจะดี

โภชนาการที่มักเข้าใจผิด

ความเชื่อที่ว่าให้เด็กกินแต่ข้าวกับเนื้อสัตว์ปรุงสุกเยอะๆ จะช่วยเพิ่มพลังงานให้เด็กและทำให้เด็กมีร่างกายที่แข็งแรงขึ้นนั้นอาจไม่ใช่ความเชื่อที่ถูกต้องเท่าไร เพราะการทานแต่ข้าวกับเนื้อสัตว์อาจทำให้เด็กได้รับสารอาหารไม่ครบถ้วน ซึ่งเด็กจะได้รับเพียงคาร์โบไฮเดรตจากข้าวและโปรตีนจากเนื้อสัตว์เท่านั้น

แล้วเด็กยังต้องการสารอาหารอะไรเพิ่มอีก?…สารอาหารที่เด็กควรได้รับจากการรับประทานอาหารในแต่ละวันมีดังนี้

  • คาร์โบไฮเดรต ที่มาจากอาหารเช่น ข้าว แป้ง

หน้าที่ของคาร์โบไฮเดรตคือการให้พลังงานแก่ร่างกายเพื่อใช้ในการเคลื่อนไหวร่างกายและทำกิจกรรมต่างๆ เช่น เดิน วิ่ง ออกกำลังกาย เป็นต้น แต่ถ้าหากเด็กได้รับสารอาหารจากคาร์โบไฮเดรตมากเกินความต้องการของร่างกายจะกลายเป็นไขมันสะสมได้

  • โปรตีน ที่มาจาก เนื้อสัตว์ ไข่ นม ถั่วเมล็ดแห้งและผลิตภัณฑ์

โปรตีนช่วยให้ร่างกายของเด็กเจริญเติบโต ช่วยเสริมสร้างกล้ามเนื้อ เนื้อเยื่อ ฮอร์โมนเพื่อเตรียมตัวเข้าสู่วัยรุ่น โดยโปรตีนที่เด็กวัยเรียนควรได้รับในแต่ละวันอยู่ที่ 1-1.1 กรัมต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม

  • วิตามินและแร่ธาตุ ที่มาจากผักและผลไม้

วิตามินและแร่ธาตุเป็นสารอาหารที่จำเป็นต่อการเจริญเติบโตและพัฒนาการของเด็ก ถ้าไม่ได้รับสารอาหารเหล่านี้จะทำให้เด็กเจริญเติบโตได้ไม่เต็มที่ ขาดสารอาหารรวมถึงจะทำให้เด็กป่วยง่าย

  • ไขมัน ที่มาจากไขมันพืชและไขมันสัตว์

ถึงแม้ว่าการได้รับสารอาหารประเภทนี้จะต้องระมัดระวังเป็นพิเศษเนื่องจากไขมันเป็นสาเหตุของการเกิดไขมันสะสมในร่างกายได้ แต่ร่างกายของเด็กยังคงต้องการไขมันเพื่อเป็นพลังงานในการใช้ชีวิตประจำวัน

จะเห็นได้ว่าหากกินเพียงข้าวและเนื้อสัตว์ปรุงสุกนั้น จะไม่ได้รับวิตามินและแร่ธาตุที่มาจากผักและผลไม้

2. อาหารฟาสต์ฟู้ดกินเมื่อไหร่ก็ได้

โภชนาการกับอาหารขยะ

ปัจจุบันอาหารประเภทฟาสต์ฟู้ด (อาหารที่ได้รับสมญานามว่าเป็น “อาหารขยะ”) เกิดขึ้นมากมายทั้งรูปแบบของร้านอาหารไปจนถึงอาหารแบบแช่แข็งที่หลายครอบครัวเลือกให้ลูกกินในชั่วโมงเร่งด่วน ทำให้เด็กได้รับสารอาหารที่ไม่ครบถ้วนและยังได้รับสารที่เป็นอันตรายต่อร่างกายของเด็กในระยะยาวอีกด้วย จึงเกิดเป็นพฤติกรรมการกินอาหารฟาสต์ฟู้ดเพราะความสะดวกสบายมากขึ้น ส่งผลให้เด็กกินอาหารในปริมาณที่มากขึ้นและเป็นสาเหตุให้เด็กเกิดโรคอ้วนได้ง่าย  

นอกจากอาหารฟาสต์ฟู้ดจะมีพลังงานที่สูงเกินกว่าที่ร่างกายของเด็กจะใช้ได้หมดแล้ว ในอาหารเหล่านี้ยังมีสารที่เป็นอันตรายต่อร่างกายของเด็ก เช่น สารกันบูด สารเร่งการเจริญเติบโตของสัตว์ เป็นต้น

อาหารขยะส่งผลต่อความทรงจำและการเรียนรู้

เด็กวัยเรียนอยู่ในช่วงที่ร่างกายและระบบความคิดพัฒนาได้อย่างดีเยี่ยม พวกเขาจะตื่นเต้นและจดจำกับสิ่งใหม่ๆ ที่พบในชีวิตตลอดเวลา แต่การที่เด็กในวัยนี้ได้รับสารอันตรายจากอาหารขยะเป็นจำนวนมากจะส่งผลเสียต่อระบบความคิดและระบบการจำของเด็กได้ ซึ่งนอกจากส่งผลต่อระบบสมองให้ทำงานได้อย่างไม่เต็มประสิทธิภาพแล้ว ยังส่งผลต่อเด็กในด้านของอารมณ์และสุขภาพในระยะยาวอีกด้วย

3. ให้กินขนมหวานหลังมื้ออาหาร

โภชนาการกับขนมหวาน

พ่อแม่ของเด็กวัยเรียนหลายคนมักจะหว่านล้อมให้ลูกกินข้าวด้วยการใช้ขนมหวานหลังอาหารเป็นตัวล่อ ทำให้เด็กติดนิสัยในการกินเพื่อให้ได้กินขนมหวานหลังจากอาหารมื้อนั้น โดยขนมหวานเหล่านี้ก็เป็นอีกหนึ่งอันตรายใกล้ตัวเด็ก ถ้ากินบ่อยๆ หรือกินในปริมาณมาก เด็กจะติดรสชาติหวานซึ่งส่งผลให้เด็กอยากกินขนมหวานบ่อยขึ้นหรือชอบกินอาหารที่มีรสชาติหวานมากขึ้น

สิ่งที่ตามมาจากการกินหวานบ่อยของเด็กๆ คือจะทำให้ฟันผุและอาจก่อให้เกิดโรคอ้วนได้ นอกจากจะส่งผลต่อสภาพร่างกายแล้วยังส่งผลต่อด้านอารมณ์ของเด็กที่ทำให้สมาธิสั้น โกรธและฉุนเฉียวง่ายขึ้นอีกด้วย

4. วิตามินเสริมทดแทนอาหารหลักได้

โภชนาการกับวิตามินเสริม

เด็กวัยเรียนหลายคนเริ่มมีพฤติกรรมเลือกกินมากขึ้นและส่วนมากเลือกที่จะไม่กินผักและผลไม้ พ่อแม่ ผู้ปกครองหลายคนจึงเลือกที่จะให้ลูกกินวิตามินเสริมทดแทนวิตามินที่ไม่ได้รับจากผักและผลไม้โดยตรง ซึ่งเมื่อเด็กได้รับวิตามินเสริมเป็นระยะเวลานานจะส่งผลต่ออวัยวะภายในซึ่งเป็นอันตรายต่อเด็กได้ ทางที่ดีควรปลูกฝังเด็กให้กินผักและผลไม้สดตั้งแต่ยังเด็กเพื่อให้วิตามินจากธรรมชาติที่หลากหลาย ได้มีส่วนช่วยในการเจริญเติบโตของเด็กและช่วยในการป้องกันโรคได้

วิตามินและแร่ธาตุอะไรบ้างที่เด็กวัยเรียนควรได้รับ
แคลเซียม

มีความสำคัญต่อการเสริมสร้างกระดูกและฟันให้แข็งแรง หากขาดแคลเซียมจะทำให้กระดูกไม่แข็งแรง เป็นตะคริวและเจริญเติบโตช้า โดยแหล่งแคลเซียมจากอาหารได้แก่ ถั่วเหลือง นมและผลิตภัณฑ์นม ปลาเล็กปลาน้อย ผักใบเขียว

ธาตุเหล็ก

มีความสำคัญต่อการเจริญเติบโตของทั้งร่างกาย สมอง และช่วยในการสร้างเม็ดเลือดแดง ทำให้สมรรถภาพการทำงานของร่างกายดี ไม่เหนื่อยง่าย หากเด็กขาดธาตุเหล็กจะทำให้เกิดภาวะโลหิตจางและส่งผลต่อศักยภายของการเรียนรู้ได้ โดยแหล่งอาหารของธาตุเหล็กได้แก่ ตับ เลือด เครื่องในสัตว์ และไข่แดง

ไอโอดีน

มีความสำคัญต่อการสร้างฮอร์โมนของต่อมไทรอยด์ ช่วยกระตุ้นระบบประสาทและสมองให้เจริญเติบโตอย่างเป็นปกติ หากขาดไอโอดีนจะทำให้เด็กมีพัฒนาการของสมองที่ช้าลง เกิดโรคคอพอก ร่างกายแคระแกร็น แหล่งอาหารที่มีไอโอดีนได้แก่ อาหารทะเล สาหร่ายทะเล ปลาทะเล

สังกะสี

มีความสำคัญต่อการเจริญเติบโตของเด็กซึ่งสังกะสีจะทำงานเกี่ยวข้องกับโปรตีน ถ้าเด็กขาดสังกะสีจะทำให้เด็กมีภาวะเตี้ย โดยสังกะสีนั้นมีในเนื้อสัตว์ อาหารทะเล ปลา ไข่ ขมและผักสีเขียวเข้ม

วิตามินเอ

มีความสำคัญต่อการมองเห็นของเด็ก การเจริญเติบโตของเซลล์และระบบภูมิคุ้มกันโรค หากขาดวิตามินเอ จะทำให้มองไม่เห็นในแสงสลัวหรือที่เรียกว่า ตาบอดกลางคืน แหล่งอาหารที่พบวิตามินเอได้แก่ ตับ ไข่ นม ผักผลไม้สีเขียวเข้มและเหลืองส้ม เช่น ผักตำลึง ฟักทอง แครอท มะม่วง

วิตามินบี 1

มีความสำคัญในการช่วยเผาผลาญคาร์โบไฮเดรต ถ้าเด็กขาดวิตามินบี 1 จะทำให้เป็นโรคเหน็บชา แหล่งอาหารที่มีวิตามินบี 1 ได้แก่ เนื้อหมู ข้าวซ้อมมือ ถั่วลิสง ถั่วเหลือง งา

วิตามินบี 2

มีความสำคัญที่นอกจากช่วยในการเผาผลาญคาร์โบไฮเดรตแล้ว ยังช่วยเผาผลาญไขมันและโปรตีนด้วย ช่วยส่งเสริมระบบประสาท ผิวหนัง ดวงตา และช่วยป้องกันเซลล์ถูกทำลาย ถ้าขาดวิตามินบี 2 จะส่งผลให้เกิดอาการเจ็บคอ ริมฝีปากอักเสบและเป็นปากนกกระจอกได้ แหล่งอาหารที่มีวิตามินบี 2 ได้แก่ เนื้อสัตว์ เครื่องในสัตว์ ไข่ นม

วิตามินซี

มีความสำคัญต่อระบบภูมิคต้านทานโรค ยับยั้งการสร้างสารก่อมะเร็ง ต้านอนุมูลอิสระ หากขาดวิตามินซีจะทำให้เบื่ออาหาร กระวนกระวาย อารมณ์แปรปรวน แผลหายช้า เลือดออกตามไรฟันหรือ “โรคลักปิดลักเปิด” แหล่งของวิตามินซีมาจากผักและผลไม้หลายชนิดได้แก่ ฝรั่ง มะขามป้อม ส้ม ขนุน มะเขือเทศ ผักใบเขียว เป็นต้น

Tips: ปริมาณอาหารที่จำเป็นสำหรับเด็กวัยเรียน

ปริมาณอาหารที่เด็กวันเรียนควรได้รับใน 1 วันมีอะไรบ้าง

ตารางโภขนาการที่ถูกต้อง

จากตาราง แสดงให้เห็นถึงความเหมาะสมในการจัดเตรียมอาหารให้ได้โภชนาการครบถ้วนสำหรับเด็กวัยเรียนใน 1 วัน โดยเด็กชั้นอนุบาลช่วงอายุ 4-5 ปี มีความต้องการข้าว-แป้ง 5 ทัพพี, ผัก 3 ทัพพี, ผลไม้วันละ 3 ส่วน, เนื้อสัตว์ประมาณ 3 ช้อนกินข้าว และนม 2-3 แก้ว

ส่วนเด็กชั้นประถมหรือช่วงอายุ 6-13 ปี มีความต้องการข้าว-แป้ง 8 ทัพพี, ผัก 4 ทัพพี, ผลไม้วันละ 3 ส่วน, เนื้อสัตว์ประมาณ 6 ช้อนกินข้าว และนม 2-3 แก้ว

ข้อมูลจาก : กลุ่มพัฒนาพฤติกรรมโภชนาการ สำนักโภชนาการ กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข

สรุป

เมื่อได้รู้ถึงโภชนาการที่สำคัญต่อเด็กวัยเรียนแล้ว การให้เด็กได้รับสารอาหารที่ครบถ้วนและมีปริมาณที่เหมาะสมกับตัวเด็กเป็นสิ่งสำคัญ ทั้งนี้จะต้องคำนึงถึงเด็กแต่ละคนด้วยว่าร่างกายของเด็กแพ้อาหารชนิดใดหรือไม่ แล้วสามารถทดแทนสารอาหารเหล่านั้นได้อย่างไร เพื่อให้เด็กสามารถเติบโตและมีพัฒนาการที่สมวัย

[แม่และเด็ก]
© DEPARTMENT OF HEALTH : MINISTRY OF PUBLIC HEALTH

ดาวน์โหลด eBook สุขภาพ

แหล่งข้อมูลความรู้เกี่ยวกับสุขภาพพร้อมให้คุณดาวน์โหลดไปศึกษาฟรี!