แม่และเด็ก

เตรียมความพร้อมก่อนตั้งครรภ์ สำคัญไฉน

  • 13 กุมภาพันธ์ 2563
เตรียมความพร้อมก่อนตั้งครรภ์ สำคัญไฉน …

          14 กุมภาพันธ์หรือ Valentine’s Day เป็นวันที่อบอวลไปด้วยความรัก ความห่วงใย ที่ใครหลายๆ คนได้มีโอกาสแสดงออกผ่านไปถึงพ่อแม่ พี่น้อง คู่รัก รวมถึงเพื่อนๆที่อยู่รอบข้างตัวเรา ในส่วนของคนมีคู่หรือกำลังจะสร้างครอบครัวเคยถามตัวเองกันไหมว่า ก่อนจะมีเจ้าตัวเล็กนั้น เราจะสามารถส่งผ่านความรักของเราให้กับเขาได้อย่างไร

การเตรียมความพร้อมด้วยการตรวจสุขภาพก่อนตั้งครรภ์ จึงเป็นวิธีบอกรักวิธีหนึ่ง ที่จะช่วยกลั่นกรอง ส่งเสริมและป้องกันให้เขาเกิดมาสมบูรณ์ แข็งแรงทั้งกายและใจ อีกทั้งมีความเสี่ยงต่อการพิการ และเสียชีวิตน้อยที่สุด

ทำไมจึงต้องตรวจสุขภาพก่อนตั้งครรภ์

เพื่อให้คนที่จะเป็นพ่อแม่ได้รู้ภาวะสุขภาพของตนเอง รวมถึงโรคทางพันธุกรรมที่อาจส่งผลต่อลูก เช่น ธาลัสซีเมีย โรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง ฯลฯ รวมถึงตรวจหาเชื้อโรคที่เป็นพาหะแอบแฝงอยู่ในร่างกาย เช่น เชื้อซิฟิลิส เชื้อไวรัสตับอักเสบบี เชื้อเอชไอวี ฯ  เพื่อเป็นการป้องกันการติดโรคที่สามารถติดต่อกันได้ระหว่างคู่รักและป้องกันการแพร่เชื้อไปสู่ลูกด้วย

 

การเตรียมพร้อมก่อนสมรสและก่อนมีบุตรต้องเตรียมอะไรบ้าง

          ก่อนสมรส การเลือกคู่ชีวิต ก่อนตัดสินใจใช้ชีวิตร่วมกับใครสักคนเป็นเรื่องสำคัญมาก เพราะความรักเพียงอย่างเดียวไม่เพียงพอต่อการประคับประคองให้ครอบครัวสามารถอยู่ร่วมกันไปได้อย่างราบรื่น การเรียนรู้ซึ่งกันและกันอย่างเปิดเผยจะช่วยให้ทั้งคู่สามารถตัดสินใจได้ดียิ่งขึ้น สิ่งที่ต้องเรียนรู้ประกอบด้วย

·  อุปนิสัยใจคอ ความรับผิดชอบ การดูแลเอาใจใส่ และวิถีชีวิต
·  พื้นฐานครอบครัว
·  พื้นฐานการศึกษา
·  เศรษฐกิจ ฐานะการเงิน
·  สุขภาพ โรคติดต่อหรือโรคทางพันธุกรรมที่อาจส่งผลต่อครอบครัวในอนาคต

และที่สำคัญ ถามใจตัวเองเสมอว่าคนที่เลือกคือ “คนที่ใช่” คนที่พร้อมจะดูแล “ร่วมทุกข์ ร่วมสุข” หรือไม่
        

ก่อนมีบุตร

ช่วงวัยที่มีแนวโน้มที่เหมาะสมต่อการมีบุตร ผู้หญิงควรมีอายุระหว่าง 20-34 ปี เพราะร่างกายมีความสมบูรณ์แข็งแรง มีเรี่ยวแรงในการเลี้ยงดูบุตร มีวุฒิภาวะทางอารมณ์ และมีเสถียรภาพทางการเงิน การเตรียมความพร้อมควรปฏิบัติดังนี้

1. การเตรียมความพร้อมด้านร่างกาย น่าจะเป็นเรื่องที่หาข้อมูลได้ง่ายทั่วไป เห็นชัดที่สุด แต่เราก็ยังมีคำแนะนำดีๆมาฝากกันให้ลองปฏิบัติกัน ดังนี้
• หญิงวัยเจริญพันธุ์ควรรับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ และควรทานอาหารที่อุดมด้วยธาตุเหล็กสูง ได้แก่ ตับ เลือด เนื้อสัตว์ เนื้อแดงต่าง ๆ เครื่องในสัตว์ ไข่แดง อาหารทะเล ผักใบเขียวเข้ม ถั่วดำ ถั่วแดง ข้าวโอ๊ต เป็นต้น
• กินวิตามินเสริมธาตุเหล็กและกรดโฟลิก (เฟอร์โรโฟลิก) เพื่อช่วยลดภาวะซีด และลดความเสี่ยงของทารกพิการแต่กำเนิด
• เลิกบุหรี่ อย่างน้อย 3 เดือนก่อนการตั้งครรภ์
• เลิกดื่มสุรา อย่างน้อย 1 เดือนก่อนการตั้งครรภ์
• ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ
• หยุดการคุมกำเนิดทุกวิธี
• มีเพศสัมพันธ์สม่ำเสมอ (สัปดาห์ละ 3-4 ครั้ง)
• รักเดียวใจเดียว
• ตรวจสุขภาพก่อนตั้งครรภ์

2. การดูแลสุขภาพช่องปาก…เพื่อว่าที่คุณแม่ฟันดี เรื่องฟันหลายคนอาจจะคิดว่าไม่เกี่ยว แต่ลองดูข้อมูลนะ เห็นแล้วว่าที่คุณแม่หลายคนอาจจะลงนัดหมอฟันโดยเร็วเลยก็ได้                                                                                                   

หญิงที่วางแผนตั้งครรภ์ ควรรับการตรวจสุขภาพช่องปากเพื่อรับการรักษา ลดความเสี่ยงการติดเชื้อในช่องปาก เพราะการมีฟันผุ เหงือกอักเสบและเป็นโรคปริทันต์ มีผลต่อคุณภาพชีวิตของคุณแม่ขณะตั้งครรภ์รวมถึงผลลัพธ์ของการตั้งครรภ์  เช่น การคลอดก่อนกำหนด เด็กเกิดมามีน้ำหนักน้อยกว่า 2,500 กรัม

ข้อควรปฏิบัติ
     รับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ ลดการรับประทานอาหารหวาน เน้นการรับประทานผักและผลไม้
     แปรงฟัน 2 2 2 คือแปรงฟันวันละ 2 ครั้ง ด้วยยาสีฟันผสมฟลูออไรด์ นาน 2 นาที ไม่รับประทานอาหาร เครื่องดื่ม หลังแปรงฟัน 2 ชั่วโมง
     ใช้ไหมขัดฟันอย่างน้อย วันละ 1 ครั้ง
      ควรได้รับการตรวจฟันทุก 6 เดือน และไปรับบริการทันตกรรมตามคำแนะนำ  

3.การดูแลสุขภาพจิต สุขภาพกายแข็งแรงไม่พอ สุขภาพใจก็ต้องแข็งแรงไปด้วยกัน ลองทำตามคำปฏิบัติง่ายๆ แบบพื้นฐานกันดู เพื่อเป็นการฟื้นฟูสุขภาพจิตของเราไปในตัว เริ่มจาก
    พักผ่อนอย่างเพียงพอ
    หลีกเลี่ยงสถานการณ์ที่นำไปสู่ความเครียดและทำให้เกิดความวิตกกังวล เช่น รู้สึกเบื่อเซ็ง  ไม่อยากพบปะผู้คน มีปัญหาการนอน  นอนไม่หลับหรือนอนมาก  มีสมาธิน้อยลง หงุดหงิด  กระวนกระวาย ว้าวุ่นใจ
     สนับสนุนและเป็นกำลังใจซึ่งกันและกันระหว่างคู่รัก

 4.การดูแลสุขภาพการเงินและสังคม ในยุคเศรษฐกิจฝืดเคือง การเก็บออม หรือการศึกษาเรื่องการลงทุนเป็นเรื่องสำคัญ เพราะมีลูก 1 คน ค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นมากมายเลยทีเดียว
    วางแผนการเงิน  เช่น การออมเงิน ฯลฯ
     เตรียมผู้ดูแลหลักในการเลี้ยงดูบุตร

5.การป้องกันตนเองจากปัญหาสิ่งแวดล้อม สภาพอากาศไม่ดี ส่งผลต่อลูกน้อยได้เช่นกัน จึงนำข้อปฏิบัติง่ายๆมาฝากกัน เริ่มทำตามง่ายๆ โดย
    หลีกเลี่ยงการสัมผัสฝุ่น ขนาด2.5 ไมครอน ขณะตั้งครรภ์ช่วง 3 เดือนแรก
(พบการสัมผัสฝุ่น NO2 , SO2, CO จากถนนสายหลัก เขตจราจร หรืออื่น ๆ ขณะตั้งครรภ์ช่วงไตรมาสแรก มีผลต่อความดันโลหิตสูง การคลอดก่อนกำหนด และน้ำหนักแรกเกิดน้อย)
    รับประทานอาหารทะเลและปลาน้ำลึกปริมาณมาก ๆ ขณะตั้งครรภ์ช่วง 3 เดือนแรก
    หลีกเลี่ยงการสัมผัสและฉีดพ่นสารเคมี (สารเคมีจะก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อน้ำหนักแรกเกิดน้อย การเจริญเติบโตของทารกและขนาดเส้นรอบศีรษะผิดปกติ)

วันนี้เราได้รวบรวมความพร้อมด้านการมีลูกในหลาย ๆ มิติมาให้ศึกษากันก่อนที่จะวางแผนการมีลูกนะคะ กับขั้นตอนง่าย ๆ และไม่ซับซ้อนเพียงเท่านี้ ก็จะช่วยส่งเสริมให้คุณแม่และลูกน้อยแข็งแรง พร้อมกับส่งเสริมพัฒนาศักภาพในการเลี้ยงลูกเป็นคนดีของสังคม และประเทศชาติต่อไปค่ะ

[แม่และเด็ก]
กองส่งเสริมความรอบรู้และสื่อสารสุขภาพ กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข

เลขที่ 88/22 ถ.ติวานนท์ ต.ตลาดขวัญ อ.เมือง จ.นนทบุรี

Email prnews@anamai.mail.go.th

โทรศัพท์ 0-2590-4053

ติดตามกรมอนามัย

เรามีสาระสุขภาพดีๆ ส่งตรงถึงอีเมลคุณทุกสัปดาห์

Subscription

© DEPARTMENT OF HEALTH : MINISTRY OF PUBLIC HEALTH