Warning: Undefined variable $bg in D:\wwwroot\multimedia\wp-content\themes\anamai_2021_v1_0_1\single.php on line 28
>

แนะ จัดสภาพแวดล้อมบริเวณบ้านป้องกันสัตว์มีพิษ – แมลงพาหะนำโรคในช่วงหน้าฝน

  • 18 ตุลาคม 2561
  กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข แนะ ทำความสะอาดบ้านและจัดสภาพแวดล้อมบริเวณบ้านให้ปลอดภัย ในช่วงหน้าฝน เพื่อป้องกันอันตรายจากสัตว์มีพิษและแมลงพาหะนำโรค
          นายแพทย์ดนัย ธีวันดา รองอธิบดีกรมอนามัย เปิดเผยว่า ในช่วงหน้าฝนประชาชนมักได้รับผลกระทบจากสัตว์มีพิษและแมลงพาหะนำโรคที่เข้ามาในบริเวณบ้าน บางชนิดอาจก่อให้เกิดอันตรายถึงกับชีวิตได้ จึงควรจัดสภาพแวดล้อมทั้งในบ้านและบริเวณบ้าน เพื่อป้องกันการเป็นแหล่งอาหารและแหล่งที่อยู่อาศัยของสัตว์มีพิษและสัตว์นำโรค โดยเฉพาะงู ในช่วงฤดูฝน มักอาศัยอยู่ในบริเวณที่ชื้นแฉะ รก และมีแหล่งอาหาร วิธีการป้องกันไม่ให้งูเข้ามาในบริเวณบ้าน คือ ทำลายแหล่งอาหารของงูอย่างเช่นหนู ปิดช่องทางเข้าออกของหนูและงู ตรวจสอบระบบท่อไม่ให้มีรูรั่วหรือรอยแตก หากพบงู อยู่ในบ้าน ให้โทรติดต่อสาย 199 เพื่อให้ผู้เชี่ยวชาญมาจับงู นอกจากนี้ให้ระวังแมลงก้นกระดก ลักษณะของมันลำตัวจะ เป็นปล้องๆ มีสีดำสลับสีแดงหรือสีแดงอมส้ม เมื่อสัมผัสกับตัวแมลง มันจะปล่อยของเหลวออกมาทำให้ปวดแสบปวดร้อน มีอาการคัน ผิวไหม้ ผื่นแดง และเป็นตุ่มน้ำ วิธีป้องกันอันตรายจากแมลงก้นกระดก คือ ห้ามตีหรือขยี้ด้วยมือเปล่า ให้ใช้ผ้าหรือกระดาษเขี่ยแมลงออกไป ติดมุ้งลวดและกางมุงนอน หากใช้ยาฆ่าแมลงต้องกวาดแมลงใส่ถุงและมัดปากถุงให้สนิท เพราะแมลงไม่ว่าจะมีชิวิตหรือตายก็สามารถปล่อยพิษได้ ในกรณีที่สัมผัสแมลงและมีอาการ ให้จุ่มหรือแช่บริเวณนั้นใน น้ำเย็น 5-10 นาที สลับกับการเป่าให้แห้ง หากมีอาการอักเสบร้ายแรง รีบพบแพทย์ทันที
          นายแพทย์ดนัย กล่าวต่อไปว่า สัตว์เลื้อยคลานขนาดเล็กอีกชนิดที่ควรระวัง คือ กิ้งกือ บางชนิดสามารถปล่อยสารพิษจากลำตัว หากสัมผัสจะทำให้ผิวหนังไหม้ ปวดแสบปวดร้อน วิธีรักษาคือ ให้ล้างผิวด้วยน้ำมากๆ และทายา ฆ่าเชื้อโรค หากสารพิษเข้าตา จะทำให้ตาอักเสบ น้ำตาไหลมาก ให้ล้างด้วยน้ำอุ่นและหยอดยาเพื่อบรรเทาอาการเจ็บปวด ดังนั้น การป้องกันกิ้งกือเข้าบ้าน ต้องปรับสภาพแวดล้อมบริเวณบ้าน ด้วยการกำจัดกองใบไม้ เล็มหญ้าให้สั้น ให้แดดส่อง ถึงพื้น และอุดรอยร้าว เพื่อป้องกันไม่ให้กิ้งกือคลานเข้าบ้าน สำหรับแมลงที่เป็นพาหะนำโรคที่ต้องระวัง คือ แมลงวันและแมลงสาบ วิธีป้องกันคือทำความสะอาดบ้าน ปิดอาหารมิดชิด เก็บกวาดเศษอาหารและขยะให้เรียบร้อย หากใช้สารเคมีและเหยื่อพิษ ต้องใช้ด้วยความระมัดระวังตามเอกสารคำแนะนำอย่างเคร่งครัด และสำหรับ ยุงลาย ซึ่งเป็นพาหะนำโรคไข้เลือดออก ต้องทำลายแหล่งเพาะพันธุ์ยุง เก็บขยะและคว่ำภาชนะที่มีน้ำขัง ปิดโอ่งน้ำ ถังน้ำ ให้มิดชิด เปลี่ยนถ่ายน้ำ ในแจกัน กระถาง ทุกสัปดาห์ หลีกเลี่ยงการโดนยุงกัด ด้วยการติดตาข่ายหรือมุ้งลวด กางมุ้งนอน หรือทายากันยุง เป็นต้น
         “ทั้งนี้ ประชาชนต้องดูแลและป้องกันตนเองจากสัตว์มีพิษและแมลงพาหะนำโรค ด้วยการทำความสะอาดสภาพแวดล้อมทั้งในบ้านและนอกบ้าน กำจัดแหล่งอาหารและแหล่งเพาะพันธุ์ต่างๆ หากโดนสัตว์มีพิษสัมผัสกับร่างกายต้องให้รีบหายารักษา หรือถ้ามีอาการผิดปกติให้รีบไปพบแพทย์ทันที สำหรับเด็กเล็ก ควรดูแลอย่างใกล้ชิดไม่ให้เด็กเล็กสัมผัสกับสัตว์ที่มีพิษหรือพาหะนำโรค และหมั่นสังเกตภายในบ้านไม่มีให้สัตว์เข้ามาได้ เพื่อความปลอดภัยของคนในบ้าน” รองอธิบดีกรมอนามัย กล่าวในที่สุด
 
***
ศูนย์สื่อสารสาธารณะ / 2 กรกฎาคม 2561
© DEPARTMENT OF HEALTH : MINISTRY OF PUBLIC HEALTH