รมว.สธ ลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์น้ำท่วม จังหวัดสุโขทัย สนับสนุนการใช้ส้วมกระดาษ หรือส้วมฉุกเฉิน กรมอนามัย แนะ ส้วมเฉพาะกิจสำหรับพื้นที่น้ำท่วมสูง

  • 26 สิงหาคม 2567

                    แพทย์หญิงอัจฉรา นิธิอภิญญาสกุล อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ได้ลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์น้ำท่วม รวมทั้งสร้างขวัญกำลังใจให้กับเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานและประชาชนผู้ประสบอุทกภัย เมื่อวันที่ 24 สิงหาคม 2567 ณ เขื่อนหาดสะพานจันทร์ ตำบลป่ากุมเกาะ อำเภอสวรรคโลก บริเวณสะพานคลองน้ำไหล ตำบลคลองมะพลับ อำเภอศรีนคร วัดคลองวังทอง ตำบลคลองยาง อำเภอสวรรคโลก ตำบลปากแคว อำเภอเมือง จังหวัดสุโขทัย กรมอนามัยได้มอบหมาย นายแพทย์เอกชัย เพียรศรีวัชรา รองอธิบดีกรมอนามัย พร้อมด้วย ดร.นายแพทย์ปองพล วรปาณิ รองอธิบดีกรมอนามัยแพทย์หญิงไสววรรณ ไผ่ประเสริฐ ผู้อำนวยการศูนย์อนามัยที่ 2 พิษณุโลก และทีม SEhRT ศูนย์อนามัยที่ 2 พิษณุโลก มอบชุด V-Clean ชุด Sanitation toolkits พร้อมทั้งส้วมกระดาษหรือ ส้วมฉุกเฉิน ให้กับเจ้าหน้าที่และประชาชน เพื่อสุขลักษณะด้านอนามัยสิ่งแวดล้อมที่ดี
                   แพทย์หญิงอัจฉรา กล่าวเพิ่มเติมว่า ประเทศไทยยังคงมีฝนตกหนักมากบางพื้นที่ในภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบนและภาคใต้ ซึ่งอาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลาก โดยมีรายงานพื้นที่ประสบสถานการณ์อุทกภัย จำนวน 8 จังหวัด ได้แก่ เชียงราย พะเยา น่าน แพร่ สุโขทัย เพชรบูรณ์ อุดรธานี และนครศรีธรรมราช ประชาชนหลายหลังคาเรือนยังต้องการอาศัยอยู่บ้าน เนื่องจากระดับน้ำสูง ส่งผลให้ส้วมใช้งานไม่ได้ ดังนั้นเพื่อเป็นการป้องกันและลดความเสี่ยงการปนเปื้อนของสิ่งปฏิกูลที่มาจากการขับถ่ายของประชาชนในน้ำในช่วงที่ไม่สามารถใช้งานส้วมโดยปกติในบ้านได้ เพื่อลดความเสี่ยงการเกิดโรคระบาดหรือโรคติดเชื้อที่มาจากน้ำที่เน่าเสียสกปรกหรือปนเปื้อนสิ่งปฏิกูล กรมอนามัย จึงแนะนำการนำส้วมฉุกเฉินมาใช้ในช่วงที่ประชาชนประสบภัยน้ำท่วมโดยส้วมฉุกเฉินที่ใช้ในบ้าน อาจใช้เป็นส้วมกระดาษแทนได้ เพราะมีความสะดวกใช้งานง่าย ซึ่งในการใช้ส้วมกระดาษนั้นจำเป็นต้องใช้ถุงพลาสติกหรือถุงดำสำหรับห่อหุ้มสิ่งขับถ่ายและต้องใช้สารเคมี ได้แก่ ปูนขาว เพื่อนำมาปรับสภาพความเป็นกรดด่างของสิ่งปฏิกูลถ้าไม่สามารถฆ่าเชื้อโรคได้ ทั้งนี้ ภายหลังการขับถ่ายลงในถุงพลาสติกหรือถุงดำที่อยู่ในส้วมกระดาษแล้วทุกครั้ง ให้ใช้ปูนขาว 2 ช้อนโต๊ะ เทลงไปโดยรอบสิ่งปฏิกูล จากนั้นมัดปากถุงให้แน่นแล้ว รวบรวมส่งให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องนำไปกำจัดอย่างถูกวิธีต่อไป และขอให้ประชาชนหมั่นดูแลสุขภาพอนามัยของตัวเอง โดยล้างมือให้สะอาดด้วยสเปรย์หรือเจลแอลกอฮอล์ทุกครั้ง หลังจากใช้ส้วม ซึ่งมีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคต่าง ๆ ได้
                 “ในการนี้ รัฐมนตรีว่ากระทรวงสาธารณสุข เห็นถึงความสำคัญของดูแลป้องกันการปนเปื้อนเชื้อโรคจากการขับถ่ายที่ไม่ถูกสุขลักษณะในช่วงน้ำท่วม จึงเน้นย้ำให้ประชาชนที่มีข้อจำกัดในการขับถ่ายโดยปกติ
ใช้ส้วมกระดาษตามแนวทางที่กรมอนามัยได้แนะนำเพื่อสุขอนามัยที่ดี พร้อมทำการสาธิตวิธีการใช้ส้วมกระดาษให้กับประชาชนในพื้นที่ เพื่อให้ประชาชนเข้าใจและสามารถใช้งานส้วมฉุกเฉินดังกล่าวได้เมื่อต้องประสบภัยกับน้ำท่วมที่กำลังจะมาถึง พร้อมนี้ กรมอนามัยยังให้ทีม SEhRT ศูนย์อนามัยในพื้นที่ประสบภัย เฝ้าระวังสถานการณ์อย่างต่อเนื่อง พร้อมทั้งลงพื้นที่สนับสนุนการประเมินความเสี่ยงและจัดการด้านสุขาภิบาล สุขอนามัย และอนามัยสิ่งแวดล้อมในพื้นที่ โดยเฉพาะในศูนย์อพยพหรือศูนย์พักพิงชั่วคราวสำหรับผู้ประสบภัยน้ำท่วม เพื่อลดความเสียงสุขภาพประชาชนต่อไป” อธิบดีกรมอนามัย กล่าว

***

กรมอนามัย / 26 สิงหาคม 2567

 

กองส่งเสริมความรอบรู้และสื่อสารสุขภาพ กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข

เลขที่ 88/22 ถ.ติวานนท์ ต.ตลาดขวัญ อ.เมือง จ.นนทบุรี

Email prnews@anamai.mail.go.th

โทรศัพท์ 0-2590-4053

ติดตามกรมอนามัย

เรามีสาระสุขภาพดีๆ ส่งตรงถึงอีเมลคุณทุกสัปดาห์

Subscription

© DEPARTMENT OF HEALTH : MINISTRY OF PUBLIC HEALTH