กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข แนะแม่หลังคลอดให้ลูกกินนมตนเองดีที่สุด เพื่อคุณค่าสารอาหารและสายใยผูกพันพร้อมภูมิต้านทานเชื้อโรค ย้ำการให้กินนมแม่บริจาคทำเฉพาะในรายจำเป็นและผู้บริจาคน้ำนมต้องผ่านกระบวนการตรวจสุขภาพเข้มข้น และมีกระบวนการเก็บที่มีมาตรฐานทางการแพทย์กำกับเท่านั้น
แพทย์หญิงพรรณพิมล วิปุลากร รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข รักษาราชการแทนอธิบดีกรมอนามัย กล่าวถึงกรณีที่สื่อออนไลน์นำเสนอความเห็นในการบริจาคน้ำนมแม่ให้กับแม่ที่ไม่มีน้ำนมที่เพียงพอที่จะเลี้ยงลูกนั้นว่า แม้จะเป็นไปด้วยความตั้งใจดี แต่การแจกจ่ายกันเองเป็นสิ่งที่ไม่ควรกระทำและไม่ถูกต้อง ซึ่งโดยปกติก็ไม่ได้ มีการสนับสนุนให้กระทำตามที่เป็นข่าว
ทางด้าน แพทย์หญิงอัมพร เบญจพลพิทักษ์ รองอธิบดีกรมอนามัยและโฆษกกระทรวงสาธารณสุข ได้เปิดเผยข้อมูลเพิ่มเติมว่า นมแม่จากการบริจาคมีความจำเป็นสำหรับเด็กคลอดก่อนกำหนดหรือทารกน้ำหนักตัวน้อยผิดปกติ หรือเด็กป่วยโดยเฉพาะกลุ่มที่ต้องได้รับการผ่าตัดเกี่ยวกับลำไส้ โดยต้องเป็นนมแม่บริจาคที่ได้ผ่านกรรมวิธีตรวจและฆ่าเชื้อโรคแล้วอย่างมีมาตรฐาน ต้องมีระบบธนาคารน้ำนม (milk bank ) ที่เป็นไปตามมาตรฐานทางการแพทย์และมีการกำกับดูแลอย่างใกล้ชิดเช่นเดียวกับระบบทางการแพทย์อื่นๆ และสำหรับคุณแม่ที่จะ บริจาคนม จำเป็นต้องได้รับการซักประวัติ และการตรวจยืนยันทางห้องปฏิบัติการว่าไม่มีการติดเชื้อ ไม่ใช้ยาหรือ ไม่ดื่มแอลกอฮอล์ เพื่อให้มั่นใจในคุณภาพน้ำนมที่บริจาค และนมที่ได้รับบริจาคจะต้องถูกตรวจสอบจากธนาคารน้ำนม มีการตรวจคัดกรองเชื้อโรคต่างๆ
“ทั้งนี้ ธนาคารน้ำนมจะทำการกำจัดเชื้อโรคในน้ำนมทั้งแบคทีเรียและไวรัส ส่วนสารอาหารในน้ำนมบริจาคจะมีการเปลี่ยนแปลงเพียงเล็กน้อย ทำให้เด็กยังได้รับประโยชน์จากคุณค่าสารอาหารแต่ในส่วนของภูมิคุ้มกันมักสลายไปพอสมควรถ้าเทียบกับภูมิคุ้มกันที่ได้รับจากนมแม่ของตัวเองโดยตรงโดยไม่ผ่านกระบวนการ ดังนั้น จึงไม่สนับสนุนการบริจาคนมให้กันเองโดยไม่มีการตรวจคัดกรองโรคติดเชื้อ เพราะอาจมีผลต่อสุขภาพของเด็ก ทั้งในระยะสั้นและระยะยาว เด็กควรได้รับนมจากแม่ตนเองดีที่สุดเนื่องจากนมแม่เป็นอาหารที่มีประโยชน์สูงสุด ซึ่งประกอบไปด้วยคุณค่าจากน้ำนมแม่ที่มีสารอาหารมากกว่า 200 ชนิด ที่มีประโยชน์ต่อการเจริญเติบโต พัฒนาสมอง จอประสาทตา ทำให้เด็กสามารถเรียนรู้สิ่งต่างๆ ได้อย่างรวดเร็ว และคุณค่าจากกระบวนการเลี้ยงลูก ด้วยนมแม่ ซึ่งเด็กที่ปกติจะสนับสนุนให้กินนมแม่ของตนเองอย่างน้อยหกเดือนเพื่อช่วยสร้างภูมิต้านทานต่อต้าน เชื้อโรค และช่วยลดอัตราเสี่ยงของการเกิดโรคต่างๆ เช่น การติดเชื้อของระบบทางเดินอาหาร การติดเชื้อของระบบทางเดินหายใจ ลดภาวะเสี่ยงต่อโรคภูมิแพ้ หอบหืด หูอักเสบ เป็นต้น” รองอธิบดีกรมอนามัย กล่าว
***
ศูนย์สื่อสารสาธารณะ / 8 ตุลาคม 2561