กรมอนามัย เข้ม Social Distancing ‘บุคคล-องค์กร-ชุมชน’ ลดแพร่เชื้อ COVID-19

  • 7 เมษายน 2563

กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข แบ่ง 3 ระดับ “บุคคล-องค์กร-ชุมชน” สร้างระยะห่างทางสังคม หรือ Social Distancing หวังลดการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19)

               

             แพทย์หญิงพรรณพิมล วิปุลากร อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) นั้น เกิดจากการสัมผัสผู้ติดเชื้อในระยะใกล้ กระทรวงสาธารณสุขจึงได้มีมาตรการป้องกันการแพร่ระบาด ซึ่งนอกเหนือจากการคัดกรองผู้ติดเชื้อที่มาจากพื้นที่ที่มีการระบาดการสอบสวนโรคกลุ่มที่มีการเจ็บป่วยมีลักษณะเป็นกลุ่มก้อนและการให้ผู้ที่มีความเสี่ยงหรือมีประวัติสัมผัสใกล้ชิดผู้ป่วยต้องกักตนเอง 14 วัน (Self-Quarantine) แล้ว การเว้นระยะห่างทางสังคม หรือ Social Distancing เป็นอีกหนึ่งมาตรการที่กระทรวงสาธารณสุขเน้นย้ำเพื่อป้องกันหรือหลีกเลี่ยงการสัมผัสกับเชื้อไวรัสจากคนหนึ่งไปสู่อีกคนหนึ่ง ด้วยการสร้างระยะห่างระหว่างตัวเราเองกับคนอื่น ๆ ในสังคม โดยต้องร่วมมือกันให้ได้ทั้งหมด 80 เปอร์เซ็นต์ ถึงจะสามารถเปลี่ยนเส้นทางการแพร่เชื้อในประเทศไทยให้ลดลงไปได้ โดยที่ตัวเราเองต้องไม่นำเชื้อไปหาคนอื่นและไม่ออกไปรับเชื้อจากบุคคลอื่นที่มีความเสี่ยงเช่นเดียวกัน โดยสามารถแบ่งระดับของการเว้นระยะห่างทางสังคม (Social Distancing) ออกเป็น 3 ระดับ ดังนี้ 1) ระดับบุคคล โดยเฉพาะเด็กที่มีอายุต่ำกว่า 5 ปี กลุ่มผู้สูงอายุ และกลุ่มผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัว ควรต้องระมัดระวังในการป้องกันตัวเอง ไม่ควรเดินทางออกจากที่พักอาศัย เนื่องจากเป็นกลุ่มที่มีภูมิคุ้มกันค่อนข้างต่ำ อาจทำให้ติดเชื้อได้ง่ายกว่ากลุ่มอื่น ๆ และขอให้งดกิจกรรมในชุมชน โดยยึดถือปฏิบัติตามหลัก 3 ล คือ “ลด เลี่ยง ดูแล” และเว้นระยะห่างจากผู้อื่น 1 – 2 เมตร เพราะเชื้อไวรัสสามารถติดต่อผ่านละอองขนาดเล็กที่มาจากการไอหรือจามได้ รวมทั้งหลีกเลี่ยงการรวมตัวของคนหมู่มาก หลีกเลี่ยงการใช้ขนส่งสาธารณะ ไม่เข้าร่วมกิจกรรมร่วมกับผู้อื่น ลดการออกไปนอกบ้านโดยไม่จำเป็น เช่น การไปงานเลี้ยงสังสรรค์ หรือการไปจ่ายตลาด อาจปรับ       ให้น้อยที่สุดอาทิตย์ละ 1 – 2 วัน

               “2) ระดับองค์กร ควรมีมาตรการเหลื่อมเวลาทำงาน หรือการทำงานที่บ้าน (Work From Home)  เป็นวิธีที่ช่วยลดความเสี่ยงในการติดเชื้อและการแพร่เชื้อจากการเดินทางด้วยขนส่งสาธารณะที่มีความแออัดในช่วงชั่วโมงเร่งด่วนเป็นการป้องกันการแพร่เชื้อทั้งภายในและภายนอกที่ทำงานได้ ด้วยการอยู่ที่บ้าน ทำความสะอาดบ้าน และไม่นำเชื้อโรคเข้าบ้าน และสำหรับผู้ที่ต้องเดินทางออกจากบ้านเป็นประจำ เมื่อกลับเข้าบ้านควรล้างมือทันที หลังจากนั้นควรเปลี่ยนชุดอาบน้ำชำระร่างกาย และแยกซักเสื้อผ้าที่สวมใส่ในวันนั้นด้วย และ 3) ระดับชุมชน การเข้าร่วมกิจกรรมทางสังคม ควรลดหรืองดกิจกรรมต่าง ๆ หรือหากไม่สามารถงดหรือเลื่อนได้ เช่น งานศพ ควรลดจำนวนของผู้ที่มาร่วมงาน จัดเก้าอี้ หรือสถานที่ให้อยู่ห่างกันพอสมควร และจัดพื้นที่สำหรับล้างมือหรือเจลแอลกอฮอล์ให้ผู้ที่มาร่วมงาน โดยทุกคนต้องสวมหน้ากากผ้าหรือหน้ากากอนามัย รวมทั้งพยายามให้ช่วงเวลาที่จัดงานให้สั้นที่สุดเท่าที่จำเป็น และลดกิจกรรมที่อาจมีการสัมผัสระหว่างกันลง ส่วนสถานที่ที่ยังเปิดบริการ เช่น สถานีขนส่ง ขนส่งสาธารณะ ตลาด ผู้ดูแลสถานที่เหล่านี้ควรปฏิบัติตามแนวทางสุขาภิบาลและอนามัยสิ่งแวดล้อมอย่างเคร่งครัด เพื่อให้ประชาชนเว้นระยะห่างระหว่างตัวเองและผู้อื่น” แพทย์หญิงพรรณพิมล กล่าว

***

ศูนย์สื่อสารสาธารณะ/ 4 เมษายน 2563

© DEPARTMENT OF HEALTH : MINISTRY OF PUBLIC HEALTH