#ANAMAINEWS กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข ชวนพ่อแม่ใช้เวลาอ่านนิทานกับลูกในแต่ละวัน ช่วยเสริมสร้างพัฒนาการ สติปัญญา อารมณ์ การสื่อสารทางภาษา และเพิ่มความผูกพันในครอบครัว
แพทย์หญิงอัมพร เบญจพลพิทักษ์ รองอธิบดีกรมอนามัยและโฆษกกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่า หนังสือนิทานเป็นเครื่องมืออันทรงพลังในการเปิดจินตนาการอันไม่รู้จบให้กับลูกน้อย เพิ่มคลังศัพท์และเปิดโลกแห่งภาษา ช่วยให้ลูกพัฒนาการสื่อสารได้อย่างรวดเร็ว และเป็นตัวเชื่อมพ่อแม่กับลูกไว้ด้วยกัน โดยเริ่มอ่านได้ตั้งแต่ลูกยังอยู่ในครรภ์ของแม่ เพื่อให้กระตุ้นการได้ยินและเกิดความคุ้นเคยกับเสียงของพ่อแม่ เพราะจากข้อมูลพัฒนาการเด็กปี 2561 จำนวน 1,807,337 คน พบว่า เด็กมีพัฒนาการล่าช้าในการเข้าใจภาษา จำนวน 2,298 คน คิดเป็นร้อยละ 51.60 และการพูด จำนวน 2,673 คิดเป็นร้อยละ 60.10 พ่อแม่จึงต้องเป็นบุคคลที่รับบทบาทสำคัญที่สุดเพื่อจะสร้างเสริมเชาว์ปัญญาของเด็กตั้งแต่เด็กเล็ก โดยใช้นิทานเป็นสื่อพัฒนาทักษะการฟัง การพูด ให้ความรู้ ความสนุกสนาน และจินตนาการแก่เด็ก อีกทั้งฝึกสมาธิให้เด็กจดจ่ออยู่กับเรื่องที่ฟัง เตรียมความพร้อมด้านการอ่านหนังสือ และปลูกฝังคุณธรรม รวมทั้งนิสัยรักการอ่านให้แก่เด็กไปพร้อมกัน โดยเฉพาะในช่วง 6 ปีแรก ซึ่งเป็นช่วงสำคัญของการวางรากฐานคุณภาพชีวิตให้เด็กเติบโตและพัฒนาได้อย่างเต็มศักยภาพ
แพทย์หญิงอัมพร กล่าวต่อไปว่า การอ่านนิทานไม่เหมือนการให้ลูกดูทีวี สมาร์ทโฟน หรือแทบเล็ต เพราะภาพในหนังสือนิทานจะหยุดนิ่ง มีเวลาให้ลูกเก็บรายละเอียด พ่อแม่และลูกสามารถกำหนดจังหวะการพลิกหนังสือให้สอดคล้องตามการรับรู้ของลูกได้ รวมถึงลูกอาจมีการถามความหมายของสิ่งต่าง ๆ หรือขอให้พ่อแม่ เล่าบางส่วนซ้ำ เป็นการสื่อสารสองทางระหว่างกัน ซึ่งเทคนิคการเลือกหนังสือนิทานสำหรับเด็กให้เน้นหนังสือ ที่มีรูปภาพ มีสีสันสวยงามน่าสนใจ มีตัวอักษรที่เห็นได้ชัดเจน และมีเนื้อหาที่ไม่มาก ซึ่งขณะนี้กรมอนามัย ได้คัดสรรนิทานที่เหมาะสำหรับเด็กตามกลุ่มวัย จำนวน 100 เรื่อง อาทิ นิทานเรื่องจ๊ะเอ๋ เรื่องตั้งไข่ล้ม เหมาะสำหรับเด็กอายุแรกเกิด – 3 ปี เป็นต้น
“สำหรับเด็กทารก อาจเริ่มจากนิทานคำกลอนกล่อมเด็กของไทย เมื่อเด็กโตขึ้น อาจเลือกเนื้อหาประเภทสิ่งใกล้ตัวในชีวิตประจำวัน สิ่งรอบตัว ไปจนถึงคุณธรรม จริยธรรม ซึ่งสามารถให้เด็กเลือกหนังสือที่ชอบเองได้ โดยช่วงเวลาในการอ่านนิทานแล้วแต่ว่าพ่อกับแม่สะดวกตอนไหนก็อ่านตอนนั้น หรืออาจจัดช่วงเวลาให้ชัดเจน ในแต่ละวัน เพื่อให้สมดุลกับกิจกรรมอื่น ๆ เช่น อ่านช่วงก่อนนอน ช่วยให้จิตใจผ่อนคลายพร้อมกับการนอนหลับ ทั้งนี้ นิทานไม่ว่าจะดีแค่ไหนจะไม่เกิดประโยชน์เลยถ้าไม่มีคนอ่านให้เด็กฟัง” รองอธิบดีกรมอนามัย กล่าว
***
ศูนย์สื่อสารสาธารณะ/ 9 กรกฎาคม 2562