กรมอนามัย ห่วงประชาชน-เด็กเล็กรับ PM2.5 แนะป้องกันตนเอง-ทำห้องปลอดฝุ่น

  • 23 ธันวาคม 2565

            #ANAMAINEWS กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข ห่วงสถานการณ์ค่าฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM2.5) สูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง แนะนำประชาชนป้องกันตนเอง และทำห้องปลอดฝุ่น เพื่อป้องกันและลดผลกระทบด้านสุขภาพ โดยเฉพาะในเด็กเล็ก และกลุ่มเปราะบางที่เป็นโรคเกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจและระบบหัวใจ

            นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย เปิดเผยว่า วันที่ 23 ธันวาคม 2565 พบว่า PM2.5 เริ่มมีแนวโน้มสูงขึ้นในหลายพื้นที่ โดยเฉพาะพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งพบค่าฝุ่น PM2.5 อยู่ระหว่าง 29 – 64 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร โดยในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑลพบเกินมาตรฐาน 26 สถานี และภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่พบเกินค่ามาตรฐานที่จังหวัดนครพนม เนื่องจากปัจจัยทางอุตุนิยมวิทยา ได้แก่ เพดานการลอยตัวอากาศเริ่มต่ำลง ความเร็วลมอ่อน และการยกตัวของอากาศไม่ดี ทำให้อากาศนิ่ง และมีการสะสมของฝุ่นละออง PM2.5 มากขึ้น และข้อมูลศูนย์แก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศ (ศกพ.) คาดการณ์ปริมาณ PM2.5 ในพื้นที่กรุงเทพมหานครว่าจะมีแนวโน้มสูงขึ้นจนอาจเกินมาตรฐานในช่วงวันที่ 23-24 ธันวาคม 2565 โดยช่วงหลังวันที่ 24 ธันวาคม สถานการณ์ฝุ่นละอองจะมีแนวโน้มที่ลดลง เนื่องจากลมตะวันออกเฉียงเหนือที่มีกำลังแรงมากขึ้นช่วยพัดพาฝุ่นละอองออกจากพื้นที่ ประกอบกับสภาพอากาศที่เปิดยิ่งขึ้น อย่างไรก็ตาม ในช่วงวันที่
27-28 ธันวาคม 2565 อาจมีโอกาสพบสถานการณ์ฝุ่นละอองขึ้นสูงในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑลอีกครั้ง

          นายแพทย์สุวรรณชัย กล่าวต่อว่า กรมอนามัยจึงขอให้ประชาชนดูแลสุขภาพตนเอง และบุคคลในครอบครัวเพื่อรับมือกับฝุ่น PM2.5 ด้วยวิธีดังนี้ 1) ติดตามสถานการณ์คุณภาพอากาศอย่างใกล้ชิดก่อนออกจากบ้าน ได้ที่เว็บไซต์ air4thai.pcd.go.th หรือแอปพลิเคชัน “Air4Thai” ของกรมควบคุมมลพิษ หรือ “AirBKK” ของกรุงเทพมหานคร และปฏิบัติตนตามคำแนะนำอย่างเคร่งครัด 2) สวมหน้ากากป้องกันฝุ่น เช่น หน้ากากอนามัย หรือหน้ากาก N95 ขณะอยู่กลางแจ้ง 4) ควรหลีกเลี่ยงการออกไปทำกิจกรรมหรือออกกำลังกายกลางแจ้งให้เปลี่ยนมาออกกำลังกายภายในอาคารแทน 5) ดูแลสุขภาพให้ร่างกายแข็งแรง พักผ่อนให้เพียงพอ ดื่มน้ำสะอาดให้มากๆ 6) สำหรับผู้ที่มีโรคประจำตัว ควรสำรองยาและอุปกรณ์ที่จำเป็นให้พร้อม และปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์ 7) สังเกตตนเองและบุคคลในครอบครัว หากพบอาการผิดปกติ เช่น ไอบ่อย หายใจลำบาก หายใจถี่ หายใจไม่ออก หายใจมีเสียงวี้ด แน่นหน้าอก เจ็บหน้าอก ใจสั่น คลื่นไส้ เมื่อยล้าผิดปกติ หรือวิงเวียนศีรษะ ให้รีบไปพบแพทย์

         “นอกจากนี้ ประชาชนยังสามารถทำห้องปลอดฝุ่น เพื่อลดความเสี่ยงในการสูด PM2.5 เข้าสู่ร่างกายได้ โดยเฉพาะในบ้านที่มีสมาชิกที่เป็นกลุ่มเด็กเล็ก ซึ่งเป็นกลุ่มเปราะบางต้องดูแลเป็นพิเศษโดย 1) ทำความสะอาดห้องโดยใช้ผ้าชุบน้ำหมาดๆ เช็ดตามบริเวณต่างๆ เป็นประจำ ไม่ควรใช้ไม้กวาดหรือเครื่องดูดฝุ่นเพราะจะทำให้ฝุ่นฟุ้งกระจาย 2) ควรงดกิจกรรมที่ก่อให้เกิดฝุ่นหรือควันเพิ่มมากขึ้น เช่น เผาเศษวัสดุทางการเกษตร จุดเทียน จุดธูป รวมทั้งกิจกรรมอื่นๆ ที่เป็นแหล่งก่อกำเนิดควัน  สำหรับห้องที่มีเครื่องปรับอากาศควรตรวจสอบและทำความสะอาดแผ่นกรองอากาศทุกเดือน ล้างเครื่องปรับอากาศอย่างน้อย 6 เดือนต่อครั้ง 3) ปิด ประตูหน้าต่างให้มิดชิด เพื่อป้องกันอากาศภายนอกเข้าไปในห้อง และอาจเพิ่มประสิทธิภาพการลดฝุ่นในห้อง เช่น การใช้เครื่องฟอกอากาศ ซึ่งอุปกรณ์ดังกล่าวควรมีขนาดที่เหมาะสมกับห้อง” อธิบดีกรมอนามัยกล่าว

***

กรมอนามัย /  23  ธันวาคม 2565

© DEPARTMENT OF HEALTH : MINISTRY OF PUBLIC HEALTH