กรมอนามัย ย้ำ ขนมไหว้พระจันทร์ ‘แป้ง – น้ำตาล’ สูง กินมากเสี่ยงอ้วน

  • 21 กันยายน 2564

กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข แนะให้กินขนมไหว้พระจันทร์ในปริมาณที่เหมาะสม พบไส้เม็ดบัวและไข่ 100 กรัม ให้พลังงานสูงสุด อยู่ที่ 404 กิโลแคลอรี หวั่นกินมาก ขาดการออกกำลังกาย เสี่ยงอ้วน

           นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า เทศกาลไหว้พระจันทร์ เป็นเทศกาลของชาวจีนสำหรับระลึกถึงเทพธิดาแห่งพระจันทร์ โดยสิ่งที่ขาดไม่ได้ในเทศกาลนี้ คือ “ขนมไหว้พระจันทร์”ที่ใช้เป็นเครื่องเซ่นไหว้ แต่ขนมไหว้พระจันทร์มักมีแป้งและน้ำตาลเป็นส่วนประกอบหลัก อีกทั้งยังมีน้ำมัน น้ำเชื่อม และเมื่อมาผสมกับไส้ต่าง ๆ ที่มีรสชาติหวาน จึงทำให้เป็นขนมที่ให้พลังงานสูงมาก โดยปกติขนมไหว้พระจันทร์ขนาด 1 ชิ้น มีน้ำหนัก 166 กรัม ให้พลังงานสูงถึง 614 – 772 กิโลแคลอรี ซึ่งสูงกว่าอาหารมื้อหลักอย่างเช่น ข้าวผัดหมู ผัดไทยกุ้งสด ข้าวผัดกะเพราไก่ไข่ดาว หรือเส้นใหญ่ผัดซีอิ๊ว 1 จาน แม้จะตัดแบ่งออกเป็นส่วน ๆ ได้ 6 ชิ้นเล็ก ๆ ก็ยังให้พลังงานถึง 96-120 กิโลแคลอรี ซึ่งจากข้อมูลแสดงคุณค่าทางโภชนาการของขนมไหว้พระจันทร์ไส้ต่าง ๆ ในปริมาณ 100 กรัม พบว่า แต่ละไส้ให้พลังงานแตกต่างกัน หากเป็นไส้พุทราให้พลังงาน 338 กิโลแคลอรี ไส้ทุเรียนให้พลังงาน 345 กิโลแคลอรี ไส้ทุเรียนและไข่ให้พลังงาน 375  กิโลแคลอรี ไส้เม็ดบัวให้พลังงาน 384 กิโลแคลอรี และไส้เม็ดบัวและไข่ให้พลังงาน 404 กิโลแคลอรี ตามลำดับ

          “ ทั้งนี้  สำหรับในช่วงเทศกาลดังกล่าว  ประชาชนมักนิยมเลือกซื้อขนมไหว้พระจันทร์เป็นของฝากผู้ใหญ่ หรือซื้อมากินกันภายในบ้าน จึงแนะนำให้กินขนมไหว้พระจันทร์อย่างเหมาะสม ไม่ควรกินทีเดียวหมดทั้งชิ้นในวันเดียวและควรเลี่ยงกินขนมหวาน ของหวานประเภทอื่นหรือเครื่องดื่มรสหวานต่าง ๆ หลังจากกินขนมไหว้พระจันทร์ เนื่องจากอาจจะทำให้ร่างกายได้รับพลังงานที่มากเกินความต้องการ ซึ่งแป้งและน้ำตาลจากขนมจะเปลี่ยนไปเป็นไขมันส่วนเกินสะสมตามร่างกาย หากขาดการออกกำลังกาย มีผลทำให้น้ำหนักเพิ่ม อ้วนลงพุง และทำให้เกิดโรคอื่นๆ ตามมา และสิ่งที่ควรให้ความสำคัญอย่างยิ่งคือ ก่อนกินขนมไหว้พระจันทร์ทุกครั้งต้องดูวันผลิตหรือวันหมดอายุ รวมทั้งสังเกตกลิ่นและสีของขนมว่าผิดปกติหรือไม่หากพบว่ามีกลิ่นและสีที่เปลี่ยนไป ควรงดบริโภคทันทีเพื่อความปลอดภัย”อธิบดีกรมอนามัย กล่าว

***

กรมอนามัย  / 21 กันยายน 2564

© DEPARTMENT OF HEALTH : MINISTRY OF PUBLIC HEALTH