กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข ห่วงสภาพอากาศที่ร้อนจัด ส่งผลให้คนทำงานกลางแจ้ง เสี่ยงป่วย โรคลมร้อน หรือ ฮีทสโตรก แนะหมั่นสังเกตอาการตนเอง ดื่มน้ำสะอาดให้มากกว่าปกติ
นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า จากสภาพอากาศของประเทศไทยถึงแม้ในช่วงนี้จะเข้าสู่ฤดูฝนแต่ในบางวันอาจมีสภาพอากาศที่ร้อนและมีอุณหภูมิที่สูงกว่าปกติ ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพได้โดยเฉพาะประชาชนในกลุ่มอาชีพที่ต้องทำงานกลางแจ้ง เช่น งานก่อสร้าง เกษตรกร รวมถึง กลุ่มเด็กเล็กอายุต่ำกว่า 5 ขวบ และผู้สูงอายุ ทำให้เสี่ยงป่วยโรคลมร้อน หรือ ฮีทสโตรก (Heat Stroke) ได้ง่าย จึงต้องหมั่นสังเกตอาการตนเอง และหากต้องอยู่กลางแดดเป็นเวลานานควรป้องกันตนเองด้วยการ สวมหมวกปีกกว้าง กางร่ม สวมเสื้อแขนยาว กางเกงขายาว ที่มีน้ำหนักเบา ระบายความร้อนได้ดี ดื่มน้ำสะอาด ให้มากกว่าปกติโดยไม่ต้องรอให้กระหายน้ำ ประมาณ 10-12 แก้วต่อวัน เพื่อชดเชยน้ำที่เสียไป
“ทั้งนี้ โรคลมร้อน หรือ โรคฮีทสโตรก (Heat stroke) เกิดจากภาวะที่ร่างกายมีอุณหภูมิสูงขึ้น สูญเสียน้ำและเกลือแร่ไม่สามารถปรับตัวหรือควบคุมระดับความร้อนภายในร่างกายจากสภาพอากาศที่ร้อนจัดได้ ทำให้ระบบในร่างกายทำงานผิดปกติโดยอาการที่พบคือ หน้ามืด เวียนศีรษะ เหงื่อไม่ออก ตัวร้อนขึ้นเรื่อยๆ มีอุณหภูมิในร่างกายสูงกว่า 40 องศาเซลเซียล จนถึงขั้นมีอาการชักเกร็งจนหมดสติ หากไม่ได้รับการปฐมพยาบาลทันทีอาจทำให้เสียชีวิตได้ ดังนั้น การปฐมพยาบาลเบื้องต้นให้รีบนำผู้ป่วยเข้าที่ร่ม มีอากาศถ่ายเทสะดวกแล้วให้นอนราบยกเท้าทั้งสองข้างขึ้นสูง เพื่อเพิ่มการไหลเวียนเลือด ถอดเสื้อผ้าให้เหลือน้อยชิ้น คลายชุดชั้นใน ใช้ผ้าชุบน้ำเย็นหรือน้ำแข็งประคบตามซอกคอ หน้าผาก รักแร้ ขาหนีบ ร่วมกับใช้พัดเพื่อระบายความร้อน ลดอุณหภูมิร่างกายให้ต่ำลง และรีบนำส่งโรงพยาบาลโดยเร็ว” อธิบดีกรมอนามัย กล่าว
***
ศูนย์สื่อสารสาธารณะ / 21 มิถุนายน 2564