กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข แนะผู้ประสบภัยน้ำท่วม เลือกกินอาหารปรุงสุก สะอาด บรรจุในภาชนะที่ปิดสนิท ส่วนอาหารสำเร็จรูป หรืออาหารกระป๋อง ควรดูสภาพสี กลิ่น กระป๋องไม่ฉีกขาด ไม่ปูดบวม หรือเป็นสนิม และสังเกตวันหมดอายุด้วย
นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า หลายจังหวัดทางภาคเหนือตอนบนยังคงได้รับผลกระทบจากอิทธิพลพายุมู่หลาน ส่งผลให้เกิดน้ำท่วมในหลายพื้นที่ และบางจังหวัดมวลน้ำยังเอ่อล้นตลิ่ง มีความเสี่ยงที่น้ำไหลเข้าท่วมบ้านเรือนของประชาชนอย่างต่อเนื่อง ทำให้ประชาชนในพิ้นที่น้ำท่วมขาดแคลนอาหารและน้ำดื่ม เนื่องจากอาหารในช่วงน้ำท่วมมักมีข้อจำกัดต่าง ๆ อาทิ มีอาหารจำนวนจำกัดและไม่หลากหลายชนิด ส่วนใหญ่เป็นอาหารแห้ง อาหารกึ่งสำเร็จรูป และอาหารปรุงสำเร็จที่ใส่กล่อง จึงมีโอกาสปนเปื้อนจากสภาพแวดล้อม เสี่ยงต่อการเกิดโรคระบบทางเดินอาหาร เช่น โรคอาหารเป็นพิษ ท้องร่วง ไทฟอยด์ อหิวาตกโรค เป็นต้น ประชาชนในพื้นที่ประสบภัยน้ำท่วม ที่ยังสามารถปรุงประอบอาหารเองได้ ให้เน้นปรุงสุกทุกครั้งก่อนบริโภค
“ทั้งนี้ อาหารสำเร็จรูป อาหารกระป๋อง ก่อนนำมาบริโภคควรดูสภาพสีกลิ่น กระป๋องไม่ฉีกขาด ไม่ปูดบวม หรือเป็นสนิม และให้สังเกตวันหมดอายุด้วย ส่วนการอุ่นให้เดือดนั้น ห้ามอุ่นอาหารทั้งกระป๋องโดยเด็ดขาด เพราะอาจจะเกิดอันตรายจากสารเคลือบหรือสารโลหะที่จะละลายปนมาในอาหารได้ ส่วนอาหารกระป๋องที่เปิดแล้วหากกินไม่หมดต้องถ่ายใส่ภาชนะอื่นที่สะอาด มีฝาปิดมิดชิด เพื่อป้องกันการปนเปื้อนของเชื้อโรค สำหรับอาหารกล่องช่วยเหลือผู้ประสบภัย ควรหลีกเลี่ยงอาหารประเภทบูดเสียง่าย เช่น อาหารที่มีส่วนผสมของกะทิ มีไขมันสูง จัดอาหารเป็นชุด แยกข้าวกับกับข้าว ใช้อุปกรณ์ในการหยิบจับอาหาร บรรจุในภาชนะที่สะอาด ไม่มีแมลงวันตอม หรือสัตว์พาหะนำโรค ควรสังเกตลักษณะอาหารก่อนบริโภคว่าไม่มีกลิ่นหรือลักษณะผิดปกติ นอกจากนี้น้ำดื่มบรรจุขวดต้องปิดสนิท หรือหากบางบ้านที่เก็บน้ำฝนเพื่อดื่ม ควรต้มให้เดือดก่อนดื่ม เพื่อเป็นการฆ่าเชื้อโรคที่ปนเปื้อนมากับน้ำ” อธิบดีกรมอนามัย กล่าว
***
กรมอนามัย / 17 สิงหาคม 2565