กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข ห่วงผู้สูงอายุลื่นล้ม เสี่ยงบาดเจ็บ ทุพพลภาพ หรืออาจถึงขั้นเสียชีวิตแนะครอบครัวที่มีผู้สูงอายุอยู่ภายในบ้านควรดูแลอย่างใกล้ชิด พร้อมตรวจสอบพื้นบ้าน พื้นห้องครัว บันไดและห้องน้ำ เพื่อป้องกันอันตรายโดยเฉพาะในช่วงหน้าฝน
นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า การหกล้มเป็นอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นบ่อยในผู้สูงอายุโดยเฉพาะช่วงหน้าฝน ส่งผลให้ผู้สูงอายุบาดเจ็บ ทุพพลภาพ หรืออาจถึงขั้นเสียชีวิต เนื่องจากผู้สูงอายุเป็นช่วงวัยที่มีความเสื่อมถอยของสภาพร่างกาย รวมทั้งผู้สูงอายุอาจมีโรคประจำตัว เช่น โรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง ที่เมื่อหกล้มแล้วจะเกิดอันตรายเพิ่มขึ้นได้ กรมอนามัยจึงขอให้ครอบครัวที่มีผู้อายุอยู่ภายในบ้านควรจัดการสภาพแวดล้อมรอบตัวผู้สูงอายุให้สะอาดปลอดภัยได้ และเอื้อต่อการดำเนินชีวิตประจำวัน รวมทั้งตรวจสอบ4 จุดสำคัญภายในบ้าน คือ 1) พื้นบ้าน พื้นบ้านที่ลื่น ด้วยสาเหตุเพราะเปียกน้ำ หรือพื้นมันวาว เป็นอุบัติเหตุส่วนใหญ่ของผู้สูงอายุ ดังนั้นจึงควรเลือกพื้นกระเบื้องเรียบ ที่ไม่ลื่น ไม่มันวาว มีความหนืด เพื่อป้องกันการหกล้มรวมทั้งเมื่อฝนตก หรือมีน้ำหกบริเวณพื้นบ้าน อย่าปล่อยทิ้งไว้เด็ดขาด ให้รีบหาผ้ามาเช็ดทำความสะอาดให้แห้งทันที ระวังพื้นบ้านต่างระดับ และควรจัดวางของให้เป็นระเบียบ เพื่อให้ผู้สูงอายุไม่สะดุดและเดินได้สะดวก 2) พื้นห้องครัว ห้องครัวเป็นบริเวณบ้านที่ผู้สูงอายุจะเข้าไปบ่อย เพราะเป็นพื้นที่สำหรับประกอบอาหาร ทำให้พื้นกระเบื้องมีความมันและเสี่ยงต่อการลื่นล้มได้ง่าย จึงควรหมั่นทำความสะอาดคราบมันบริเวณพื้นกระเบื้องให้สะอาด ที่สำคัญควรเก็บของมีคมให้อยู่ในที่ปลอดภัย
“3) บันได หากห้องนอนของผู้สูงอายุอยู่ชั้น 2 หรือต้องเดินขึ้นลงบันไดอยู่ตลอดเวลา บันไดควรติดยางกันลื่นที่ขอบบันไดเพื่อกันลื่น ปิดมุมแหลมคมๆ ของบันได และมีราวจับบันไดทุกขั้น ควรเพิ่มแสงสว่างบริเวณบันไดหรือพื้นที่ต่างระดับให้มองเห็นได้ชัด แต่ควรจัดห้องนอนผู้สูงอายุไว้ชั้นล่างเพื่อสะดวกในการใช้ชีวิตและไม่ต้องขึ้นลงบันได 4) ห้องน้ำ หากพื้นห้องน้ำเปียกอยู่ตลอดเวลา หรือมีคราบแชมพู ครีมนวด อาจทำให้เสี่ยงต่อการลื่นล้มควรดูแลความสะอาดและเลือกพื้นกระเบื้องที่ไม่ลื่น หรือแบ่งโซนห้องน้ำเป็น 2 โซน คือโซนเปียกและโซนแห้งโดยทำพื้นที่เรียบเสมอกัน ไม่มีพื้นต่างระดับ ประตูห้องน้ำควรเป็นแบบเลื่อนง่ายต่อการเปิดปิด และควรติดราวจับเอาไว้ในห้องน้ำเพื่อให้ผู้สูงอายุเอาไว้พยุงเดินจะได้ไม่เกิดการลื่นล้ม ที่สำคัญครอบครัวที่มีผู้สูงอายุ ลูกหลานควรดูแลอย่างใกล้ชิดเพื่อป้องกันการเกิดอุบัติเหตุลื่นล้ม หรือพลัดตกหกล้มที่อาจทำให้ผู้สูงอายุบาดเจ็บ ทุพพลภาพหรือเสียชีวิตได้” อธิบดีกรมอนามัย กล่าว
***
กรมอนามัย / 16 มิถุนายน 2566