กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข ชวนพุทธศาสนิกชนใช้ถุงผ้า ตะกร้า ปิ่นโตใส่ของและอาหารไปวัดแทนการใช้ถุงพลาสติกและภาชนะโฟม และช่วยกันล้างส้วมวัด สร้างกุศลในวันออกพรรษา เพื่อลดปัญหาขยะ ลดแหล่งสะสมของเชื้อโรคและสร้างสุขอนามัยที่ดีแก่พระสงฆ์และผู้ใช้บริการส้วมวัด
แพทย์หญิงพรรณพิมล วิปุลากร อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า วันออกพรรษาประชาชนนิยมไปทำบุญ ตามวัดต่างๆ เพื่อเป็นการสร้างบุญกุศลให้กับตนเองและครอบครัว ดังนั้นจึงต้องใส่ใจและให้ความสำคัญตั้งแต่การเตรียมอาหารและสิ่งของเครื่องใช้สำหรับถวายพระ รวมทั้งต้องช่วยกันรักษาสิ่งแวดล้อมในวัด โดยเริ่มจากการใช้ถุงผ้าหรือตะกร้าจับจ่ายซื้อของทำบุญแทนการใช้ถุงพลาสติกหลายใบ ไม่ใช้ภาชนะโฟมบรรจุอาหารถวายพระสงฆ์ เปลี่ยนมาใช้ปิ่นโต ภาชนะที่ใช้ซ้ำได้ หรือวัสดุที่ย่อยสลายง่ายใส่อาหารนำไปถวายพระสงฆ์ เพื่อลดขยะที่ย่อยสลายยากและปลอดภัยต่อสุขภาพ สิ่งของเครื่องใช้ที่จะนำไปถวายพระสงฆ์ต้องมีคุณภาพ ใช้งานได้จริง และเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับพระสงฆ์ นอกจากนี้ เรายังสามารถทำบุญได้ด้วยการช่วยกันดูแลรักษาสถานที่สาธารณะ เช่น การล้างส้วมวัด เป็นการทำบุญด้วยการลงแรงทำความสะอาดสมบัติของสาธารณะ เพื่อช่วยลดการแพร่กระจายของเชื้อโรคจากส้วม ซึ่งอานิสงส์ของการล้างส้วมในวัดถือเป็นการทำบุญที่ยิ่งใหญ่ เป็นการสร้างสภาพแวดล้อมที่ดีให้กับผู้อื่น และช่วยป้องกันโรค สร้างสุขอนามัยที่ดีสำหรับทุกคน
“ทั้งนี้ อยากจะขอความร่วมมือวัดและสถานที่สาธารณะทุกแห่งใส่ใจเรื่องความสะอาดส้วม โดยเฉพาะจุดเสี่ยงในส้วมที่ตรวจพบเชื้อโรคมากที่สุด ได้แก่ 1) ที่จับสายฉีดชำระ ตรวจพบเชื้อโรคมากที่สุดถึงร้อยละ 85 2) บริเวณพื้นห้องส้วมพบร้อยละ 50 3) ที่รองนั่งโถส้วม พบร้อยละ 31 4) ที่กดโถส้วมและโถปัสสาวะ พบร้อยละ 8 5) ที่เปิดก๊อกอ่างล้างมือ พบร้อยละ 7 และ 6) กลอนประตูหรือลูกบิดพบร้อยละ 3 นอกจากนี้ ประชาชนที่ไปทำบุญที่วัดควรมีจิตสาธารณะและพฤติกรรมการใช้ส้วมที่ถูกสุขลักษณะ คือ ไม่ขึ้นไปเหยียบบนโถส้วมแบบชักโครก ไม่ทิ้งขยะหรือวัสดุใดๆ ลงโถส้วม ราดน้ำหรือกดชักโครกทุกครั้งหลังการใช้ส้วม และที่สำคัญต้องล้างมือด้วยสบู่และน้ำทุกครั้งหลังการใช้ส้วม เพื่อสุขอนามัยที่ดีของทุกคน” อธิบดีกรมอนามัย กล่าว
***
ศูนย์สื่อสารสาธารณะ/ 11 ตุลาคม 2562