กรมอนามัย ย้ำ คุมกำเนิดสำคัญ ลดการตั้งครรภ์ซ้ำในวัยรุ่น

  • 10 กรกฎาคม 2565

กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข ย้ำความสำคัญของการคุมกำเนิด แก้ปัญหาการตั้งครรภ์ไม่พร้อม  หรือการตั้งครรภ์ซ้ำในวัยรุ่นที่ส่งผลต่อคุณภาพของเด็กไทย พร้อมแนะยาฝังคุมกำเนิด เป็นการคุมกำเนิด แบบกึ่งถาวรที่มีประสิทธิภาพสูง

                 

                   นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า กรมอนามัยได้ร่วมกับ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) จัดทำแผนการป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น ซึ่งบรรจุเป็นแผนงานระดับประเทศเพื่อให้วัยรุ่นเข้าถึงบริการคุมกำเนิดชนิดกึ่งถาวร โดย สปสช. ได้สนับสนุน การให้บริการคุมกำเนิดแบบกึ่งถาวรให้แก่ประชาชนไทย เพศหญิงที่มีอายุต่ำกว่า 20 ปี ทุกสิทธิที่อยู่ในภาวะหลังคลอด แท้ง หรือต้องการคุมกำเนิด โดยสามารถขอรับบริการคุมกำเนิดแบบห่วงอนามัย  และยาฝังคุมกำเนิดได้ที่สถานบริการสาธารณสุขในเครือข่ายของ สปสช. ทั่วประเทศ เพื่อป้องกันการตั้งครรภ์    และการตั้งครรภ์ซ้ำในกลุ่มวัยรุ่นหลังคลอด หรือแท้ง หรือต้องการคุมกำเนิด

                    นายแพทย์สุวรรณชัย กล่าวต่อไปว่า จากผลการศึกษาการตั้งครรภ์ซ้ำในวัยรุ่นเขตสุขภาพที่ 7   ของนางสาวมุธิตา อันทะเกต นายมเหศักดิ์ ภูริวัฒน์ภากรณ์ และนางสาวรัตติกานต์ รักษาภักดี ศูนย์อนามัยที่ 7 ขอนแก่น ซึ่งได้รางวัลรองชนะเลิศอันดับสอง กลุ่มวัยเรียนวัยรุ่น จากงานประชุมวิชาการส่งเสริมสุขภาพ  และอนามัยสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ครั้งที่ 15 พบว่า กลุ่มตัวอย่างมีอายุเฉลี่ย 18.8 ปี อายุน้อยที่สุด 16 ปี อายุมากที่สุด 19 ปี สถานภาพสมรส ร้อยละ 74.2 ระดับการศึกษาส่วนใหญ่ศึกษาในระดับมัธยมศึกษาตอนต้น ร้อยละ 45.5    กว่าครึ่งไม่ได้ประกอบอาชีพ สำหรับบุคคลใกล้ชิดเคยตั้งครรภ์หรือมีบุตรขณะอายุน้อยกว่า 20 ปี คือกลุ่มเพื่อน ร้อยละ 50.0 ข้อมูลทางสูติกรรมเป็นครรภ์ที่ 2 ร้อยละ 87.9 และร้อยละ 59.1 มีประวัติไม่ได้คุมกำเนิด แต่หากคุมกำเนิดจะใช้วิธีกินยาเม็ดคุมกำเนิด ร้อยละ 51.3 และไม่มีความสม่ำเสมอในการใช้วิธีคุมกำเนิด   ร้อยละ 53.8 ทำให้มีความเสี่ยงที่ทำให้เกิดการตั้งครรภ์ซ้ำ จึงต้องมีวิธีการคุมกำเนิดที่ดี

                    “ทั้งนี้ ยาฝังคุมกำเนิดเป็นวิธีการคุมกำเนิดแบบกึ่งถาวรที่มีประสิทธิภาพสูง สามารถคุมกำเนิดได้ในระยะเวลา 3 ปี และ 5 ปี ตลอดจนกลับสู่ภาวะเจริญพันธุ์ได้อย่างรวดเร็วภายหลังการหยุดใช้  และไม่มีผลรบกวนต่อการมีเพศสัมพันธ์ โดยมีกลไกการป้องกันการคุมกำเนิด คือ ฮอร์โมนที่ปล่อยออกมาจาก    แท่งยาฝังที่อยู่ใต้ผิวหนัง ใต้ท้องแขน มีผลทำให้ฟองไข่ไม่สามารถโตต่อไปจนตกไข่ได้ จึงไม่สามารถตั้งครรภ์ได้ นอกจากนี้ ฮอร์โมนยาฝังคุมกำเนิดนี้ยังทำให้มูกที่ปากมดลูกเหนียวข้น ทำให้เชื้ออสุจิว่ายผ่านเข้าไปได้ยาก ช่วยลดโอกาสการผสมไข่ สตรีที่ใช้ยาฝังคุมกำเนิดจะมีโอกาสตั้งครรภ์น้อยกว่า 1 ใน 2,000 จึงเป็นการช่วยลดการตั้งครรภ์ที่ไม่พร้อม หรือการตั้งครรภ์ซ้ำได้” อธิบดีกรมอนามัย กล่าว

***

กรมอนามัย / 10 กรกฎาคม 2565

© DEPARTMENT OF HEALTH : MINISTRY OF PUBLIC HEALTH

ดาวน์โหลด eBook สุขภาพ

แหล่งข้อมูลความรู้เกี่ยวกับสุขภาพพร้อมให้คุณดาวน์โหลดไปศึกษาฟรี!