กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข เตือนประชาชน ระวังการใช้เจลแอลกอฮอล์หรือสเปรย์แอลกอฮอล์ บริเวณที่มีเชื้อเพลิงหรือเปลวไฟ เช่น กองไฟ เตาแก๊ส การจุดยากันยุง การจุดธูป เป็นต้น เนื่องจากแอลกอฮอล์สามารถติดไฟได้ พร้อมแนะ 5 วิธีใช้แอลกอฮอล์ให้ปลอดภัย
นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า จากกรณีแฟนเพจ “Survive – สายไหมต้องรอด” เปิดเผยเรื่องหญิงสาวรายหนึ่ง ที่ถูกไฟไหม้ตามร่างกาย หลังฉีดพ่นแอลกอฮอล์ใส่ตัว และเดินไปจุดยากันยุงนั้น โดยทั่วไปแอลกอฮอล์สำหรับฆ่าเชื้อ เป็นเอทิลแอลกอฮอล์ ความเข้มข้น 70 – 90 เปอร์เซนต์ มีประสิทธิภาพในการฆ่าเชื้อโรคมากที่สุด แต่ไม่ควรทาหรือราดทั้งตัว เพื่อป้องกันโรคโควิด-19 เพราะเป็นวิธีการที่ไม่ถูกต้อง ไม่สามารถป้องกันโรคได้จริง อีกทั้งอาจเกิดอันตรายได้หากกระเด็นเข้าสู่ดวงตาหรือเนื้อเยื่อเนื่องจากแอลกอฮอล์เป็นสารติดไฟง่าย หากใช้แอลกอฮอล์ทาทั้งตัว และเข้าไกล้ไฟ จะทำให้เกิดไฟไหม้และเป็นอันตรายได้ จึงควรใช้อย่างปลอดภัย 5 วิธี ดังนี้ 1) ไม่ควรใช้สเปรย์แอลกอฮอล์บริเวณที่มีเชื้อเพลิงหรือเปลวไฟ เช่น กองไฟ เตาแก๊ส การจุดยากันยุง การจุดธูป เป็นต้น เนื่องจากแอลกอฮอล์สามารถติดไฟได้ 2) ไม่ควรแบ่งแอลกอฮอล์สำหรับการฆ่าเชื้อ ใส่ในขวดน้ำ เพราะอาจมีผู้เข้าใจผิดว่าเป็นน้ำดื่มได้ 3) ไม่ควรเก็บแอลกอฮอล์ไว้ในรถที่จอดตากแดด เพราะในรถอุณหภูมิสูงจะทำให้แอลกอฮอล์ระเหย และประสิทธิภาพลดลงจนไม่สามารถฆ่าเชื้อโรคได้ 4) ไม่ฉีดสเปรย์แอลกอฮอล์ในที่แคบ จะทำให้เกิดการฟุ้งโดนใบหน้า เข้าตา และเมื่อหายใจเข้าไปจะทำให้เกิดการระคายเคือง และ 5) ไม่ควรใช้เจลหรือสเปรย์แอลกอฮอล์บริเวณผิวบอบบาง เช่น ใบหน้า รอบดวงตา บริเวณที่ผิวอักเสบหรือมีบาดแผล เพราะจะทำให้เกิดการระคายเคือง และแสบร้อนบริเวณดังกล่าว
“ทั้งนี้ การเลือกใช้และเก็บรักษา ให้เลือกใช้เจลหรือสเปรย์แอลกอฮอล์ที่มีฉลากติดไว้ชัดเจน ไม่หมดอายุ เมื่อเปิดใช้มีกลิ่นเฉพาะของแอลกอฮอล์ ควรใช้เฉพาะจุดที่มือสัมผัส โดยบีบเนื้อเจลหรือสเปรย์แอลกอฮอล์ ลงในฝ่ามือ แล้วลูบให้ทั่วฝ่ามือ หลังมือ และนิ้วมือ ทิ้งไว้ 20 – 30 วินาที จนแอลกอฮอล์ระเหยแห้ง โดยเน้นทาที่มือ ก่อนและหลังการสัมผัสจุดสัมผัสร่วม เพื่อสุขอนามัยที่ดี ป้องกันโควิด-19 ส่วนการเก็บรักษา ให้เก็บไว้ในอุณหภูมิปกติ โดยปิดฝาภาชนะให้สนิท เพื่อป้องกันแอลกอฮอล์ระเหย” อธิบดีกรมอนามัย กล่าว
***
กรมอนามัย / 10 กุมภาพันธ์ 2565