#ANAMAINEWS กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข แนะศูนย์พักพิงคุมเข้มสุขอนามัยส่วนบุคคลของประชาชาชนที่อาศัยอยู่รวมกัน พร้อมย้ำจุดปรุงประกอบอาหาร ให้เน้นปรุงร้อน สะอาด ถูกสุขลักษณะมีการจัดการสุขาภิบาลอาหาร และสิ่งแวดล้อม ขยะ และใช้ส้วมอย่างถูกต้องเพื่อป้องกันโรค
นายแพทย์สุวรรณชัย กล่าวต่อไปว่า ขณะนี้หลายพื้นที่ได้จัดตั้งศูนย์พักพิงช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วม ซึ่งอาจทำให้มีประชาชนอาศัยร่วมกันเป็นจำนวนมาก หน่วยงานภาครัฐจึงควรเฝ้าระวังด้านสุขอนามัยส่วนบุคคล การปรุงประกอบอาหาร และการจัดการสุขาภิบาลสิ่งแวดล้อม เพื่อป้องกันเป็นแหล่งเพาะพันธุ์สัตว์แมลง และการระบาดของโรค โดยศูนย์พักพิงที่มีจุดปรุงประกอบอาหารนั้น ต้องเลือกพื้นที่หรือสถานที่ทำครัวที่ให้ไกล ห้องส้วม และที่เก็บขยะ ที่ระบายน้ำเสีย หรือที่เก็บสารเคมี โดยหลีกเลี่ยงการเตรียมหรือปรุงอาหารบนพื้น ควรมีโต๊ะเตรียมปรุงอาหารที่สูงจากพื้นอย่างน้อย 60 เซนติเมตร เพื่อป้องกันการปนเปื้อน ทำความสะอาด และฆ่าเชื้อโรคบริเวณโต๊ะที่ใช้เตรียม ปรุงอาหาร เตาหุงต้มอาหาร เป็นประจำทุกวัน โดยเฉพาะเขียงควรแยกเขียงหั่นเนื้อ หั่นผัก และอาหารปรุงสุก เขียงที่ใช้หั่นเนื้อสัตว์ต้องล้างขจัดคราบไขมันด้วยน้ำยาล้างจาน แล้วล้างออกด้วยน้ำสะอาด และห้ามนำผ้าที่สกปรกมาเช็ด เพราะจะทำให้เชื้อโรคจากผ้าปนเปื้อนอาหาร ที่มีการหั่น สับ บนเขียงได้
นายแพทย์สุวรรณชัย กล่าวต่อไปว่า ก่อนปรุงอาหารควรมีการล้างวัตถุดิบที่จะนำมาปรุงทุกครั้ง ด้วยน้ำสะอาด 2-3 ครั้ง ก่อนจะนำไปปรุงประกอบอาหาร ส่วนผู้ปรุงประกอบอาหารต้องปฏิบัติตนให้ถูกสุขลักษณะ เช่น ล้างมือก่อนปรุงอาหาร ไม่ใช้มือจับอาหารปรุงสำเร็จโดยตรง ถ้ามือมีแผลต้องปิดแผลให้มิดชิด ด้วยพลาสเตอร์กันน้ำ หลีกเลี่ยงการสัมผัสกับอาหาร ส่วนการบรรจุอาหารที่ปรุงสุกแล้วควรใส่ในภาชนะที่สะอาดและไม่ควรทิ้งระยะนานเกิน 2-4 ชั่วโมง หลังปรุงและบรรจุอาหารควรระบุวัน เวลา ในการกินให้ชัดเจน ก่อนส่งให้กับผู้ประสบภัย หลีกเลี่ยงอาหารที่ปรุงด้วยกะทิเพราะหากเก็บนานเกินไปอาจทำให้อาหารบูดและเสียได้ สำหรับการจัดการขยะในจุดปรุงอาหารนั้น จะต้องมีถังขยะใส่เศษอาหารที่ทำด้วยวัสดุไม่รั่วซึม มีฝาปิด หากใช้ปิ๊ป ควรมีถุงพลาสติกรองอีกชั้นหนึ่ง และต้องแยกขยะเป็นสองถังคือ ถังขยะเปียก และถังขยะแห้ง เพื่อง่ายต่อการกำจัด
“ทั้งนี้ การใช้ส้วมในศูนย์พักพิงมีจำนวนมาก ผู้ใช้จึงต้องให้ความสำคัญต่อพฤติกรรมการใช้ส้วมสาธารณะอย่างถูกต้อง โดยไม่ทิ้งขยะหรือวัสดุใด ๆ ลงโถส้วม ราดน้ำหรือกดชักโครกทุกครั้งหลังการใช้ส้วม และล้างมือทุกครั้งหลังการใช้ส้วม เพื่อสุขอนามัยที่ดีและป้องกันโรคในช่วงน้ำท่วม อาทิ อุจจาระร่วง บิด เป็นต้น” อธิบดีกรมอนามัย กล่าว
***
กรมอนามัย / 6 ตุลาคม 2565