กรมอนามัย ห่วงเด็กกินขนมเลียนแบบแปรงสีฟัน ยาสีฟัน เสี่ยงฟันผุ

  • 3 เมษายน 2565

กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข ห่วงเด็กกินขนมลูกอมที่มีการทำเลียนแบบแปรงสีฟันและยาสีฟันน้ำเชื่อม อาจทำให้เกิดฟันผุ พร้อมย้ำการแปรงฟันด้วยสูตร 2 – 2 – 2 เพื่อสุขภาวะของฟันและเหงือกที่ดี

 

 

                 นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า จากกรณีมีการโฆษณาขายขนมลูกอมที่มีการทำเลียนแบบแปรงสีฟันและยาสีฟันที่มีส่วนผสมของน้ำเชื่อม อาจทำให้เด็กและผู้ปกครองเกิดความเข้าใจผิดคิดว่าขนมชนิดนี้มีประโยชน์ในการทำความสะอาดฟันและซื้อมากิน โดยไม่มีการแปรงฟัน เสี่ยงเกิดฟันผุเพิ่มมากขึ้น เนื่องจากขนมประเภทนี้มีส่วนประกอบหลัก คือ น้ำตาลที่มีความหวานและเหนียวติดฟัน เป็นแหล่งอาหารของเชื้อจุลินทรีย์ที่ผิวฟันนำไปใช้สร้างกรดกัดกร่อนฟัน รวมทั้งขนมชนิดนี้ยังมีกรดรสเปรี้ยว ซึ่งมีฤทธิ์กัดกร่อนผิวฟัน โดยเฉพาะในฟันน้ำนมที่เพิ่งขึ้นมาในช่องปากได้ไม่นาน ซึ่งมีการสะสมแร่ธาตุไม่สมบูรณ์ ส่งผลให้เกิดฟันผุได้ง่าย รวมทั้งอาจทำให้เด็กติดรสหวานและเปรี้ยวของขนมชนิดนี้ ทำให้เมื่อแปรงฟันด้วยยาสีฟันทั่วไปอาจไม่ถูกใจรสชาติและรบเร้าผู้ปกครองให้ซื้อขนมชนิดนี้มาแปรงฟันแทนยาสีฟันผสมฟลูออไรด์ อาจทำให้เกิดผลเสียต่อสุขภาพช่องปากเด็ก                ในระยะยาว รวมทั้งอาจเข้าใจผิดคิดว่า ยาสีฟันที่ใช้แปรงฟันสามารถกินได้ จนเกิดการกลืนยาสีฟัน ขณะแปรงฟัน หรือนำมาบีบกินเล่น จนเกิดอันตรายจากการได้รับปริมาณฟลูออไรด์ที่สูงเกินไปได้ พ่อแม่ ผู้ปกครอง จึงควรใส่ใจในการเลือกซื้อขนมที่เหมาะสมกับเด็กอย่างใกล้ชิด รวมถึงดูแลสุขภาพช่องปาก  ที่ถูกวิธี เพื่อให้เด็กมีฟันที่แข็งแรงตามวัย

 

            ทางด้าน ทันตแพทย์หญิงวรางคนา เวชวิธี ผู้อำนวยการสำนักทันตสาธารณสุข กล่าวว่า ขนมที่มีประโยชน์สำหรับเด็ก ควรเป็นขนมหวานน้อย ไม่เหนียวติดฟัน โดยแนะนำให้กินขนมในมื้ออาหารไม่เกิน 2 ครั้งต่อวัน ที่สำคัญภายหลังกินขนมควรแปรงฟันด้วยสูตร 2 – 2 – 2  ได้แก่ 1) แปรงฟันอย่างน้อยวันละ 2 ครั้ง เช้าและก่อนนอนด้วยยาสีฟันผสมฟลูออไรด์ 2) แปรงฟันนานครั้งละ 2 นาทีขึ้นไป เพื่อให้มั่นใจว่าแปรงฟันได้สะอาดทั่วทั้งปาก ทุกซี่ และทุกด้าน และเป็นการให้เวลาฟลูออไรด์ในยาสีฟันจับกับผิวเคลือบฟันเพื่อป้องกันฟันผุ และ3) งดกินอาหารและเครื่องดื่มหลังแปรงฟัน 2 ชั่วโมง เพื่อให้ช่องปากสะอาดนานที่สุด ส่งผลต่อสุขภาวะของฟันและเหงือกที่ดี

 

***

 

กรมอนามัย / 3 เมษายน 2565

© DEPARTMENT OF HEALTH : MINISTRY OF PUBLIC HEALTH