กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข แนะประชาชน ปรับสภาพร่างกายหลังออกเจ เริ่มต้นด้วยอาหารรสไม่จัดย่อยง่าย กินอาหารให้ครบ 5 หมู่ อย่างหลากหลายในปริมาณเหมาะสมเพียงพอ เน้นปลา ไข่ และเริ่มดื่มนมเพียงครั้งละเล็กน้อยก่อนเพื่อป้องกันท้องอืด
แพทย์หญิงอัมพร เบญจพลพิทักษ์ รองอธิบดีกรมอนามัยและโฆษกกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยถึงการบริโภคอาหารหลังหมดเทศกาลกินเจว่าในช่วงกินเจติดต่อกันเป็นเวลา 9 วันส่งผลให้ร่างกายมีการปรับระบบการย่อยอาหารจากที่ย่อยเนื้อสัตว์มาเป็นผักแทน เมื่อร่างกายต้องกลับมากินอาหารตามปกติ ผู้บริโภคจึงต้องมีการปรับสภาพร่างกายด้วยการเริ่มต้นกินอาหารอ่อนและรสไม่จัด เน้น ไข่ นม ผักและผลไม้ กินให้หลากหลายครบ 5 หมู่ ไม่หวาน มัน เค็ม เผ็ด เปรี้ยว เลือกกินเนื้อสัตว์ประเภทย่อยง่าย เนื้อปลา เนื้อไก่ เพื่อให้ร่างกายปรับตัว 2-3 วัน เนื่องจากเป็นระยะแรกร่างกายปรับระบบการย่อยอาหารจากพืชผักมาเป็นเนื้อสัตว์ โดยหลังจากที่ร่างกายสามารถปรับสภาพการย่อยอาหารได้กลับมาสู่ภาวะเดิม ผู้บริโภคจะสามารถกินอาหารตามปกติได้ และเป็นโอกาสปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเป็นการกินที่ดี โดยกินอาหารที่ปรุงสะอาด ปลอดภัย กินเป็นเน้นข้าวกล้อง ปลา ไข่ นม ผักและผลไม้ ได้คุณค่าโภชนาการครบ 5 หมู่ เพื่อสุขภาพที่ดีของคนไทย
แพทย์หญิงอัมพร กล่าวต่อไปว่า หลังออกเจผู้บริโภคสามารถเพิ่มคุณค่าทางโภชนาการด้วยกินไข่วันละฟอง เพราะไข่เป็นแหล่งโปรตีนและสารอาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการสูง ปรุงเป็นอาหารได้ง่าย เหมาะกับทุกวัย ไข่ ช่วยบำรุงสมอง ป้องกันจอประสาทตาเสื่อม ทุกกลุ่มวัยสามารถกินไข่วันละ 1 ฟอง เว้นกลุ่มผู้ป่วยที่เป็นโรคหัวใจ โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง กินไข่ไม่เกินสัปดาห์ละ 3 ฟองแต่กินไข่ขาวได้ทุกวันหรือปฏิบัติตัวตามคำแนะนำของแพทย์ ส่วนนมเป็นแหล่งที่ดีของโปรตีนและแคลเซียม ช่วยเสริมสร้างกระดูกและฟันให้แข็งแรง เหมาะสมสำหรับทุกวัย ซึ่งในช่วงทานเจ ผู้บริโภคไม่ได้ดื่มนมวัวมาระยะหนึ่ง อาจทำให้น้ำย่อยสามารถย่อยแลคโตสได้ลดลง จึงแนะนำให้เริ่มดื่มนมวัวครั้งละน้อยก่อน ประมาณไม่เกินครึ่งแก้วในระยะแรก แล้วจึงค่อยๆ เพิ่มเป็นครั้งละหนึ่งแก้วได้ในเวลาประมาณ 1–2 สัปดาห์ หรือดื่มนมขณะที่ท้องไม่ว่างหลังอาหาร หรือกินผลิตภัณฑ์นมที่ผ่านการย่อยน้ำตาลแลคโตสบางส่วนโดยจุลินทรีย์ เช่น ผลิตภัณฑ์โยเกิร์ต
“ทั้งนี้ ประชาชนสามารถกินอาหารเพื่อให้ร่างกายได้รับพลังงานเหมาะสม กินอาหารให้ให้หลากหลาย ครบ 5 หมู่ และหมั่นดูแลน้ำหนักตัว โดยเน้นกินข้าวกล้อง ข้าวขัดสีน้อย กินปลา ไข่ เนื้อสัตว์ไม่ติดมัน ถั่วเมล็ดแห้งเป็นประจำ กินผักให้มากและหลากหลายสี กินผลไม้เป็นประจำ ผักส่วนใหญ่ให้พลังงานน้อยอยู่แล้ว ส่วนผลไม้บางชนิดนั้น ยังต้องระมัดระวังน้ำตาลที่แฝงมา ดังนั้น ควรกินทุกวันแต่กินในปริมาณที่เหมาะสม เพราะผักและผลไม้อุดมด้วยวิตามินและแร่ธาตุที่สำคัญ เช่น โปแตสเซียม ธาตุเหล็ก โฟเลท และใยอาหารสูง ซึ่งมีผลดีต่อสุขภาพในการเพิ่มภูมิต้านทานโรค ชะลอการดูดซึมน้ำตาล ลดระดับคอเลสเตอรอล ขับถ่ายสะดวก นอกจากนี้ ควรหลีกเลี่ยงอาหารไขมันสูง หวานจัด เค็มจัด ให้ใช้เครื่องปรุงรสเค็มเสริมไอโอดีน ดื่มน้ำสะอาดให้เพียงพอ หลีกเลี่ยงเครื่องดื่มชา กาแฟ รสหวาน และน้ำอัดลม งดอาหารหมักดองและเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์” รองอธิบดีกรมอนามัย กล่าว
***
ศูนย์สื่อสารสาธารณะ / 18 ตุลาคม 2561