กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุขเผย ผลสำรวจพฤติกรรมเด็กวัยเรียนยังพบมีพฤติกรรมสุขภาพ ที่ไม่เหมาะสมทั้งด้านการบริโภค สุขอนามัย ความปลอดภัย และมีพฤติกรรมเนือยนิ่งมากขึ้นหวั่นเสี่ยงเป็น โรคไม่ติดต่อเรื้อรัง
แพทย์หญิงอัมพร เบญจพลพิทักษ์ รองอธิบดีกรมอนามัยและโฆษกกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า เด็กวัยเรียนหรือเยาวชนไทยเป็นทรัพยากรที่สำคัญของประเทศการที่จะพัฒนาประเทศให้มีความเจริญยั่งยืนจำเป็นต้องพัฒนาเด็กให้มีความพร้อมในทุกๆด้าน โดยเฉพาะอย่างยิ่งด้านสุขภาพอนามัย แม้ในช่วงวัยเรียนตอนปลายประมาณ 12 ปี อวัยวะในร่างกายมีการทำงานที่เกือบสมบูรณ์เต็มที่แล้ว ทำให้สุขภาพทั่วไปของเด็กวัยนี้ค่อนข้างสมบูรณ์ ไม่เกิดการเจ็บป่วยง่าย แต่ก็ยังมีปัญหาสุขภาพและพฤติกรรมเสี่ยงที่ต้องเฝ้าระวัง ทั้งนี้ จากผลการสำรวจพฤติกรรมพึงประสงค์ เด็กวัยเรียนของกรมอนามัย ในนักเรียนอายุ 12 ปี ในปีการศึกษา 2560 ที่ผ่านมา พบว่า 1 ใน 5 ของนักเรียนไทย มีภาวะอ้วน สูงถึง (ร้อยละ 21.6) แต่มีเพียงแค่ 1 ใน 3 ของเด็กอายุ 12 ปี ที่กินข้าวครบ 3 มื้อ (ร้อยละ 33.2) และ มีนักเรียนถึง 4 ใน 5 ที่ดื่มน้ำอัดลม (ร้อยละ 81.2) นอกจากนี้ มีนักเรียนแค่ 1 ใน 3 (หรือร้อยละ 18.5) ที่มีกิจกรรมทางกายมากกว่า 3 วันต่อสัปดาห์ และมากกว่า 60 นาทีใน 1 วัน และยังพบอีกว่าประมาณ 2 ใน 4 ใช้คอมพิวเตอร์โทรศัพท์มือถือนานเกิน 2 ชั่วโมง (ร้อยละ 38.3)
“นอกจากนี้ พบว่า นักเรียนเกือบครึ่ง หรือร้อยละ 41.1 ไม่แปรงฟันก่อนนอน ส่วนด้านอนามัยสิ่งแวดล้อมมีเพียง 1 ใน 3 ที่คัดแยกขยะลงถังก่อนทิ้ง (ร้อยละ 31.3) โดยผลการสำรวจชี้ให้เห็นว่าเด็กนักเรียนยังมีพฤติกรรมสุขภาพที่ไม่เหมาะสม ทั้งด้านการบริโภค สุขอนามัย ความปลอดภัย รวมทั้งมีพฤติกรรมเนือยนิ่งมากขึ้น ซึ่งพฤติกรรมเหล่านี้จะส่งผลเสียต่อสุขภาพเด็กอาจนำไปสู่โรคไม่ติดต่อเรื้อรัง อาทิ โรคอ้วน เบาหวาน และความดันโลหิตสูง ส่งผลต่อความสามารถในการเรียนรู้ในระยะยาวได้ นอกจากนี้ ข้อมูลยังสะท้อนถึงความไม่เข้าใจในเรื่องอนามัยสิ่งแวดล้อม” แพทย์หญิงอัมพร กล่าว
รองอธิบดีกรมอนามัย กล่าวในตอนท้ายว่า การส่งเสริมสุขภาพเด็กไทยให้เติบโตได้อย่างมีคุณภาพ ควรเตรียมตัวเด็กให้มีความพร้อมกับสังคมที่กำลังเปลี่ยนแปลงเข้าสู่ยุค 4.0 มีการเสริมสร้างความรอบรู้ด้านสุขภาพอย่างรอบด้าน โดยอาศัยครอบครัวเป็นจุดเริ่มต้นในการสร้างวินัยเชิงบวกด้านสุขภาพ ปลูกฝังให้เด็กและเยาวชนเห็นความสำคัญของสุขภาพ รวมทั้งการสร้างทั้งความเข้าใจและความรับผิดชอบต่อสภาพแวดล้อมภายในครอบครัว โรงเรียนและชุมชน เพื่อให้เด็กและเยาวชนสามารถเข้าถึง เข้าใจข้อมูลสุขภาพ และสามารถตัดสินใจดูแลสุขภาพตนเองให้ได้อย่างเหมาะสม นำไปสู่การมีพัฒนาการทางด้านร่างกาย สติปัญญา และจิตใจ ที่สมบูรณ์แข็งแรง มีทักษะสามารถดูแลสุขภาพตนเองและมีพฤติกรรมที่เหมาะสม มีความพร้อมในการเรียนรู้และส่งผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษา สามารถดำรงตนอยู่ในสังคมได้อย่างมีคุณภาพและมีความสุข
***
ศูนย์สื่อสารสาธารณะ / 27 กันยายน 2561