กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข หนุนความปลอดภัยด้านอาหารในช่วงเทศกาลกินเจ แนะพ่อค้า แม่ค้า และผู้ปรุงอาหารเจกินเอง นอกจากให้ความสำคัญในการล้างผักและผลไม้แล้ว ควรหันมาใช้ผักปลอดสารพิษในการปรุงอาหาร ลดอันตรายจากสารเคมีตกค้างในผัก ประชาชนเลือกกินเจที่ดีต่อสุขภาพเน้นผัก ผลไม้ ข้าวกล้องถั่วงา เต้าหู้ เห็ดต่างๆ ลดหวาน มัน เค็ม เลี่ยงทอด ผัดน้ำมันเยิ้ม เลี่ยงแป้งเลียนแบบเนื้อสัตว์
แพทย์หญิงพรรณพิมล วิปุลากร รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข รักษาราชการแทนอธิบดีกรมอนามัย เปิดเผยว่า ช่วงเทศกาลกินเจพ่อค้า แม่ค้า รวมทั้งผู้ที่ปรุงประกอบอาหารกินเอง นอกจากจะคำนึงถึงความปลอดภัยในวัตถุดิบประเภทผักและผลไม้ก่อนนำปรุงอาหาร ด้วยการล้างให้สะอาดทุกครั้งเพื่อป้องกันสารเคมีตกค้างหรือการปนเปื้อนของเชื้อจุลินทรีย์ก่อโรค ซึ่งสามารถทำได้หลายวิธีตั้งแต่ให้ล้างด้วยน้ำไหล แช่ในน้ำนาน 15 นาที หรือแช่ในน้ำผสมน้ำส้มสายชู 5 เปอร์เซ็นต์ แช่นาน 15 นาที หรือใช้โซเดียมไบคาร์บอเนต (เบคกิ้งโซดา) ครึ่งช้อนโต๊ะผสมน้ำ 10 ลิตร แช่ทิ้งไว้ 15 นาที แล้วล้างด้วยน้ำสะอาด ซึ่งทั้ง 3 วิธีนี้จะช่วยลดสารเคมีตกค้างได้ นอกจากนี้เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับผู้บริโภคควรเลือกใช้ผักปลอดสารพิษที่มีการรับรองจากแหล่งผลิตในการปรุงประกอบอาหารเจแทนการใช้ผักที่มีความเสี่ยงปนเปื้อนสารพิษจะปลอดภัยกว่า
“ส่วนอาหารแห้งประเภทธัญพืช ถั่วเมล็ดแห้ง เช่น ถั่วเขียว ถั่วแดง ถั่วดำ สิ่งที่ต้องให้ความสำคัญในการบริโภคคือเชื้อราที่ปนเปื้อนในวัตถุดิบดังกล่าวที่เกิดจากการเก็บรักษาที่ไม่เหมาะสม เช่น เก็บไว้ในที่ชื้นเกินไปหรือไม่มีการอบให้แห้งดีพอ ก่อให้เกิดสารอะฟลาท็อกซิน หากมีการบริโภคเข้าไปและมีการสะสมในปริมาณมากก็จะทำให้เสี่ยงต่อการเป็นโรคมะเร็งได้ การป้องกันที่ดีคือต้องเลือกถั่วเมล็ดแห้งที่ใหม่และเก็บไว้ในภาชนะที่แห้งพอ โดยก่อนที่จะนำมาปรุงประกอบอาหารควรล้างให้สะอาดเพื่อขจัดสิ่งปนเปื้อนและควรปรุงสุกทุกครั้งก่อนนำมาบริโภค” แพทย์หญิงพรรณพิมล กล่าว
รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข รักษาราชการแทนอธิบดีกรมอนามัย กล่าวในตอนท้ายว่า สำหรับการเลือกซื้ออาหารเจสำเร็จรูปควรเลือกร้านที่ผู้ปรุงจำหน่ายมีการสวมผ้ากันเปื้อน หมวกคลุมผม ใช้อุปกรณ์หยิบจับอาหาร หรือใส่ ถุงมือ ไม่ใช้ภาชนะโฟมใส่อาหารเจ และควรเลือกซื้ออาหารเจจากร้านอาหารหรือแผงลอยมีป้ายสัญลักษณ์ อาหารสะอาด รสชาติอร่อย (Clean Food Good Taste) เนื่องจากช่วงเทศกาลกินเจพ่อค้าแม่ค้ามักมีการปรุงประกอบอาหารจำหน่ายเป็นจำนวนมาก การปรุงประกอบที่ไม่สะอาด ไม่ถูกสุขลักษณะ อาจส่งผลเสียต่อสุขภาพผู้บริโภคได้ ส่วนการเลือกซื้ออาหารเจให้ได้คุณค่าทางโภชนาการนั้น ผู้บริโภคควรเลือกรับประทานอาหารที่มีถั่วหรือผลิตภัณฑ์จากถั่ว เช่น เต้าหู้ น้ำเต้าหู้ นมถั่วเหลือง ฟองเต้าหู้ โปรตีนเกษตร งา และเห็ดต่างๆเพื่อเสริมโปรตีน เน้นข้าวกล้อง อาหารที่ปรุงประกอบด้วยผักต่างๆ เลี่ยงอาหารประเภทผัดน้ำมันเยิ้ม ทอด เพราะมีไขมันสูง หากได้รับมากเกินความจำเป็นของร่างกายจะทำให้น้ำหนักเกินและอ้วนได้ ลด หวาน มัน เค็มโดยเฉพาะน้ำมันในการปรุงอาหาร ไม่ควรเกิน 6 ช้อนชาต่อวัน เน้นอาหารเจประเภทต้ม นึ่ง อบ ยำ ที่มีผักเป็นส่วนประกอบ เช่น ลาบเต้าหู้ น้ำพริกเจผักเคียง ต้มจืดเจ ต้มยำเจ พะโล้เจ เลี่ยงผลิตภัณฑ์แป้งเลียนแบบเนื้อสัตว์ ส่วนอาหารเจที่เหลือจากการกินต้องใส่ตู้เย็นและนำมาอุ่นให้ร้อนก่อนกินทุกครั้ง
***
ศูนย์สื่อสารสาธารณะ / 8 ตุลาคม 2561