กระทรวงสาธารณสุข ร่วมกับกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน องค์การทุนเพื่อเด็กแห่งสหประชาชาติประจำประเทศไทย องค์การอนามัยโลกประจำประเทศไทย และมูลนิธิศูนย์นมแม่แห่งประเทศไทย รณรงค์ส่งเสริม การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ในเดือนวันแม่แห่งชาติและสัปดาห์นมแม่โลก ตั้งเป้าในปี 2568 เด็กไทยกว่าร้อยละ 50 กินนมแม่อย่างเดียวนานถึง 6 เดือน
วันนี้ (6 สิงหาคม 2561) นายแพทย์วชิระ เพ็งจันทร์ อธิบดีกรมอนามัย เปิดเผยภายหลังเป็นประธานแถลงข่าวรณรงค์ส่งเสริมการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่และสัปดาห์นมแม่โลก ภายใต้แนวคิด “นมแม่รากฐานแห่งชีวิต” ณ ห้องประชุมชัยนาทนเรนทร กระทรวงสาธารณสุข ว่า ในสัปดาห์นมแม่โลก หรือ World Breastfeeding Week ที่นานาประเทศได้ร่วมกันกำหนดไว้ในวันที่ 1-7 สิงหาคมของทุกปี ซึ่งปีนี้กระทรวงสาธารณสุข และเครือข่าย ได้ร่วมกันรณรงค์ส่งเสริมการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ ภายใต้คำขวัญ “นมแม่คือรากฐานแห่งชีวิต” Breastfeeding : Foundation of Life โดยมีนโยบายที่จะส่งเสริม สนับสนุน และปกป้องให้เด็ก ทุกคนได้กินนมแม่อย่างเต็มที่ ตามคำแนะนำขององค์การอนามัยโลก คือ กินนมแม่ตั้งแต่ 1 ชั่วโมงแรกหลังคลอด กินนมแม่เพียงอย่างเดียวในช่วง 6 เดือนแรกของชีวิต และกินนมแม่ต่อเนื่องควบคู่อาหารตามวัยจนถึงอายุ 2 ปี หรือนานกว่านั้นหรือตามสูตร 1-6-2 ซึ่งข้อมูลจากการสำรวจสถานการณ์เด็กและสตรีในประเทศไทยที่จัดทำโดยสำนักงานสถิติแห่งชาติร่วมกับองค์การทุนเพื่อเด็กแห่งสหประชาชาติ ในปี 2559 พบว่า มีทารกไทยเพียงร้อยละ 40 ได้กินนมแม่ภายใน 1 ชั่วโมงแรกหลังคลอด และเพียงร้อยละ 23 ที่ได้กินนมแม่อย่างเดียวในช่วง 6 เดือนแรกของชีวิต ยิ่งไปกว่านั้น มีทารกเพียงร้อยละ 13 ที่ได้กินนมแม่ต่อเนื่องถึง 2 ปี กระทรวงสาธารณสุข และเครือข่าย จึงได้ตั้งเป้าหมายในปี 2568 ให้ทารกอย่างน้อยร้อยละ 50 ได้กินนมแม่อย่างเดียวถึง 6 เดือน สอดคล้องตามเป้าหมายของทุกประเทศทั่วโลก
“การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่นั้นเป็นเรื่องของ วิถีชีวิตเกี่ยวพันกับทุกคน ทุกองค์กร การเฉลิมฉลองสัปดาห์ นมแม่โลกในปีนี้ มีวัตถุประสงค์ที่ต้องการสื่อสารไปถึง ทุกคนในสังคมให้ตระหนักในความสำคัญของการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ เร่งให้ลงมือทำ โดยร่วมมือกันสร้างสิ่งแวดล้อมที่เป็นมิตรกับการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ และวางจุดยืนว่าเด็ก ทุกคนจะมีโอกาสได้วางรากฐานแห่งชีวิตด้วยการได้กินนมแม่อย่างเหมาะสม โดยกรมอนามัยเห็นว่าการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่จะช่วยให้ทุกการเกิดนั้นเจริญเติบโตต่อไปอย่างมีคุณภาพตลอดทั้งชีวิต การดำเนินงานประกอบด้วย 3 ด้าน ได้แก่ การปกป้อง ส่งเสริมและสนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ การปกป้อง คือการบังคับใช้พระราชบัญญัติควบคุมการส่งเสริมการตลาดอาหารสำหรับทารกและเด็กเล็ก พ.ศ. 2560 หรือ พ.ร.บ. นมผง เพื่อปกป้องสิทธิและสุขภาพของเด็กทุกคนไม่ให้เสียโอกาสในการกินนมแม่ ผ่านการควบคุมวิธีการโฆษณาและส่งเสริมการตลาดอาหารทารกและเด็กเล็ก การส่งเสริม คือ การจัดระบบบริการสุขภาพ ที่สร้างความรอบรู้เกี่ยวกับการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่แก่หญิงตั้งครรภ์และครอบครัว ตั้งแต่ฝากครรภ์ ต่อเนื่องถึงการจัดบริการห้องคลอดคุณภาพและ การดูแลหลังคลอดที่ช่วยแม่ให้เริ่มให้นมลูกได้เร็วและตามต้องการ เชื่อมโยงถึงชุมชนที่มีอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้านเกือบ 1 ล้านคน คอยให้คำปรึกษาอย่างใกล้ชิดที่บ้าน ส่วนการสนับสนุน คือการจัดสิ่งแวดล้อมที่เอื้ออำนวยช่วยเหลือให้เลี้ยงลูกด้วยนมแม่ได้ โดยในระบบบริการสุขภาพมีการจัดตั้งคลินิกนมแม่เพื่อช่วยแก้ปัญหาและให้คำปรึกษาอย่างครบวงจรในสถานประกอบกิจการสำหรับแม่ทำงานมีการผลักดันการจัดตั้งมุมนมแม่ และ การสร้างความรอบรู้ให้แก่แม่ ครอบครัวและชุมชน” อธิบดีกรมอนามัย
ทางด้าน นายกิตติพงษ์ เหล่านิพนธ์ รองอธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน กล่าวว่า กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน ได้ขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะสนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ในสถานประกอบกิจการ โดยส่งเสริมสนับสนุนและประชาสัมพันธ์ให้นายจ้าง ลูกจ้าง เห็นความสำคัญของการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ ซึ่งจะส่งผลให้ลูกมีภูมิต้านทานโรค สุขภาพแข็งแรง พัฒนาการสมวัย และประหยัดค่าใช้จ่ายของลูกจ้างในการซื้อนมผสมให้ลูกกินซึ่งมีคุณค่าทางอาหารน้อยกว่านมแม่ ทำให้เกิดการจัดตั้งมุมนมแม่ในสถานประกอบกิจการเพื่อเป็นสวัสดิการแก่ลูกจ้าง และครอบครัว ซึ่งนายจ้างที่เข้าร่วมโครงการจะต้องจัดสถานที่มิดชิด เหมาะสม ถูกสุขลักษณะ จัดโต๊ะ เก้าอี้ อ่างล้างมือ และตู้เย็นสำหรับให้แม่แช่นมที่บีบเก็บใส่ถุงเพื่อนำกลับไปให้ลูกกินที่บ้าน รวมถึงการให้คำปรึกษา แนะนำ มีการติดตามและประเมินผลเพื่อนำมาปรับแผนการดำเนินการส่งเสริมการจัดตั้งมุมนมแม่ในสถานประกอบกิจการอย่างต่อเนื่องทุกปี ซึ่งผลการดำเนินงานที่ผ่านมา ตั้งแต่ปี 2559 – กรกฎาคม 2561 มีสถานประกอบกิจการจัดตั้งมุมนมแม่ จำนวน 1,745 แห่ง ลูกจ้างใช้บริการมุมนมแม่ จำนวน 11,159 คน ลูกจ้างเกี่ยวข้อง 999,882 คน ทำให้สามารถประหยัดค่าใช้จ่ายได้ประมาณ 334,770,000 บาท
ทางด้าน Juan Santander ผู้แทนองค์การยูนิเซฟและองค์การทุนเพื่อเด็กแห่งสหประชาชาติประจำประเทศไทย กล่าวว่า การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่เป็นหนึ่งในการลงทุนที่ดีที่สุดสำหรับอนาคตของลูก เพราะการเริ่มต้นที่สำคัญสำหรับ 6 เดือนแรกของชีวิต คือการให้เด็กได้กินนมแม่ ซึ่งเป็นวิธีที่ทั้งฉลาดและประหยัดเพื่อให้เด็กมีสุขภาพแข็งแรง เจริญเติบโตได้ดี การกินนมแม่มีผลอย่างมากกับการอยู่รอดปลอดภัย สุขภาพ ภาวะทางโภชนาการ และพัฒนาการของเด็ก เด็กทารกที่ได้กินนมแม่มีความเสี่ยงต่อการเจ็บป่วยน้อยกว่าเด็กที่ไม่ได้กินนมแม่ เด็กที่ไม่ได้รับ นมแม่เมื่อโตขึ้นจะมีความเสี่ยงต่อโรคเรื้อรังต่างๆ เช่น โรคอ้วน ภาวะไขมันในเส้นเลือดสูง ความดันโลหิตสูง เบาหวาน หอบหืดในเด็ก และโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาว และที่สำคัญกว่านั้น เด็กที่ได้กินนมแม่อย่างเดียวในช่วง 6 เดือนแรกมีพัฒนาการด้านสติปัญญาและมีความสามารถในการเรียนรู้ได้ดีกว่า
ทางด้าน Dr. Renu Garg ผู้แทนจากองค์การอนามัยโลกประจำประเทศไทย กล่าวว่า การให้นมแม่ถือเป็น การเริ่มต้นที่ดีที่สุดสำหรับทารก และให้ประโยชน์ต่อเนื่องไปตลอดชีวิต ขอชื่นชมรัฐบาลไทยที่ได้แสดงความมุ่งมั่นใน การปกป้องส่งเสริมและสนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ เห็นได้ชัดจากการออกพระราชบัญญัติควบคุมการส่งเสริมการตลาดอาหารสำหรับทารกและเด็กเล็ก พ.ศ. 2560 ซึ่งในตอนนี้การวางกรอบเพื่อบังคับใช้กฎหมายมีความสำคัญมาก เพราะจะช่วยขับเคลื่อนให้กฎหมายมีผลเป็นไปตามเจตนารมณ์และส่งผลระยะยาวถึงโอกาสที่เด็กไทยจะได้กินนมแม่เพิ่มขึ้น
ทางด้าน แพทย์หญิงศิริพร กัญชนะ ประธานมูลนิธิศูนย์นมแม่แห่งประเทศไทย กล่าวว่า มูลนิธิศูนย์นมแม่แห่งประเทศไทย ในฐานะภาคประชาสังคม ได้ร่วมมือกับภาคีเครือข่ายทั้งภาครัฐและเอกชน เพื่อนำร่อง การสนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ในหลายประเด็น ประเด็นที่สำคัญคือการสนับสนุนการจัดตั้งมุมนมแม่ใน สถานประกอบกิจการ โดยในปัจจุบันได้ร่วมทำงานกับสถานประกอบกิจการกว่า 40 แห่งที่มีการดำเนินงานที่ดีมาก ซึ่งประสบการณ์ของบริษัทเหล่านี้หลังจากแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกันจะทำให้บริษัทอื่นๆ ในประเทศไทย สนใจเริ่มดำเนินการเพื่อช่วยพนักงานหญิงให้สามารถดูแลลูกอย่างดีที่สุดด้วยนมแม่ได้ นอกจากนี้ทางมูลนิธิได้ดำเนินการสร้างกระแสสังคมเรื่องของการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ โดยในวันที่ 4 สิงหาคม ที่ผ่านมาได้มีการจัดงานมอบรางวัลให้แก่ครอบครัวนมแม่ต้นแบบเพื่อเป็นกำลังใจให้กับแม่และครอบครัวที่ตั้งใจ เลี้ยงลูกด้วยนมแม่ให้สำเร็จ และเพื่อส่งต่อแรงบันดาลใจไปยังทุกภาคส่วนของสังคมให้รับรู้ว่าการช่วยแม่ให้เลี้ยงลูกด้วยนมแม่ได้สำเร็จ ทุกคนสามารถมีบทบาทสำคัญได้ เริ่มตั้งแต่ตัวแม่และครอบครัว โรงพยาบาล ตลอดจนชุมชน สถานประกอบกิจการและหน่วยงานทุกแห่ง
***
ศูนย์สื่อสารสาธารณะ / 6 สิงหาคม 2561