กรมอนามัย แนะ พ่อแม่ใส่ใจฟันน้ำนมของลูก เลี่ยงสูญเสียฟันก่อนเวลา

  • 12 พฤศจิกายน 2561
 กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข เผย ฟันน้ำนมของลูกมีความสำคัญ แนะ พ่อแม่ ต้องใส่ใจดูแลฟันของลูก ไม่ให้สูญเสียก่อนกำหนด เพื่อสุขภาพฟันที่ดีของเด็ก
      นายแพทย์อรรถพล แก้วสัมฤทธิ์ รองอธิบดีกรมอนามัย เปิดเผยถึงความสำคัญของฟันน้ำนมของลูกซึ่งคุณพ่อและคุณแม่จะต้องให้ความสำคัญ หากเด็กสูญเสียฟันน้ำนมไปก่อนกำหนดในขณะที่หน่อฟันแท้ที่จะขึ้นมาแทนที่ยังสร้างไม่เสร็จ จะส่งผลให้ฟันแท้ยังไม่ขึ้นในช่องปากของเด็ก เพราะฟันแท้จะขึ้นก็ต่อเมื่อมีการสร้างฟันที่พร้อมสมบูรณ์ และถึงอายุการขึ้นของฟันแต่ละซี่ เช่น หากลูกต้องสูญเสียฟันกรามน้ำนมตั้งแต่อายุ 3 ปี ลูกจะต้องฟันหลอ ไม่มีฟันเคี้ยวอาหาร และรอคอยฟันแท้ซี่ที่จะขึ้นมาแทนที่นานถึง 8 ปี ซึ่งการมีฟันน้ำนมอยู่ครบทุกซี่สำหรับบดเคี้ยวอาหาร จะช่วยให้เด็กได้รับสารอาหารครบถ้วนตามสมควร หากมีฟันผุอักเสบบวมเป็นหนอง ปวดฟัน หรือต้องถูกถอนฟันไปก่อนกำหนด จะทำให้เด็กกินอาหารได้น้อยลง ส่งผลให้มีน้ำหนักและส่วนสูงต่ำ และความเจ็บปวดยังรบกวนการนอนของเด็ก เมื่อเด็กหลับไม่สนิทจะทำให้การหลั่งของฮอร์โมนที่ควบคุมการเจริญเติบโตของร่างกายลดลง
      “ขณะที่ร่างกายมีการติดเชื้อจากฟันผุ ร่างกายจะมีอัตราการเผาผลาญพลังงานโดยรวมเพิ่มขึ้น ส่งผลให้เกิดการรบกวนต่อการเจริญเติบโตและพัฒนาการตามปกติของเด็ก ซึ่งจากการศึกษาในหลายประเทศพบว่า เด็กที่ฟันน้ำนมผุมีความสัมพันธ์กับภาวะโภชนาการ การเจริญเติบโตด้านน้ำหนักตัว ส่วนสูง และพัฒนาการต่ำกว่าเด็กที่มีฟันผุน้อยกว่าหรือไม่มีฟันผุเลย สำหรับฟันน้ำนมที่ดีจะช่วยป้องกันฟันแท้ซ้อนเก เพราะฟันน้ำนมแต่ละซี่ทำหน้าที่จองพื้นที่ไว้สำหรับฟันแท้ที่อยู่ในขากรรไกร ซึ่งรอการขึ้นตามกาลเวลา เมื่อมีการสูญเสียฟันน้ำนมก่อนวัยอันควรจึงมีผลให้ฟันแท้ซี่ที่ขึ้นก่อนล้มเอียงไปตามช่องว่างที่มีอยู่ ฟันแท้ที่ขึ้นมาทีหลังจึงซ้อนเก เนื่องจากขนาดช่องว่างที่เหลืออยู่ไม่เพียงพอ เกิดปัญหาในการบดเคี้ยวอาหารและความสวยงามของใบหน้า นอกจากนี้ยังทำให้เด็กออกเสียงได้ไม่ชัดเจน ส่งผลให้เด็กขาดความเชื่อมั่นในตนเอง และกระทบต่อความกล้าแสดงออกอีกด้วย” รองอธิบดีกรมอนามัยกล่าว
      ทางด้าน ทันตแพทย์หญิงปิยะดา ประเสริฐสม ผู้อำนวยการสำนักทันตสาธารณสุข กล่าวเสริมว่า การทำความสะอาดช่องปาก และการแปรงฟันให้ลูก เป็นวิธีการที่สำคัญที่สุดวิธีหนึ่งในการรักษาฟันน้ำนมให้อยู่ในช่องปากได้นานที่สุด โดยปกติเด็กเล็กมักจะร้องเวลาแปรงฟัน ซึ่งเป็นธรรมชาติของเด็กวัยนี้ หากคุณพ่อ คุณแม่ ทำความสะอาดช่องปาก แปรงฟันให้ลูกน้อยได้ถูกต้อง และแปรงอย่างสม่ำเสมอทุกวัน ลูกจะไม่เจ็บและเกิดความเคยชินจนสามารถให้ความร่วมมือได้อย่างดี เด็กแรกเกิดจนถึงช่วงวัยก่อนมีฟันน้ำนมขึ้นใน ช่องปาก ให้ใช้ผ้าสะอาดชุบน้ำต้มสุกเช็ดเหงือก กระพุ้งแก้ม ลิ้นให้ลูกเพื่อขจัดคราบนมวันละ 2 ครั้ง เมื่อลูกเริ่มมีฟันน้ำนมในช่องปาก ควรแปรงฟันให้ลูกตั้งแต่ฟันซี่แรกขึ้นด้วยยาสีฟันผสมฟลูออไรด์ แตะขนแปรง พอเปียก ถูแปรงไปมาสั้นๆ ในแนวขวาง อย่างน้อยวันละ 2 ครั้ง เช้า-ก่อนนอน โดยผู้ปกครองนั่งพื้นให้ เด็กนอนหนุนตัก หรือนั่งบนเก้าอี้ให้เด็กยืนหันหลังให้ ถ้าเด็กดิ้นให้ใช้ขาควบคุมแขนและขาของเด็กไว้ให้นิ่ง ใช้นิ้วแหวกกระพุ้งแก้มหรือริมฝีปากเพื่อให้เห็นฟันที่จะแปรงได้ชัดเจน ใช้ผ้าสะอาดเช็ดยาสีฟันออกหลัง แปรงฟัน เมื่อเด็กอายุ 2-3 ปี ฝึกให้เด็กแปรงฟันเอง แต่วัยนี้ เด็กจะยังไม่สามารถแปรงฟันเองได้สะอาด ผู้ปกครองควรแปรงซ้ำให้จนเด็กอายุประมาณ 7-8 ปี ที่สำคัญที่สุด ผู้ปกครองควรตรวจฟันเด็กเดือนละครั้ง หากพบฟันผุหรือความผิดปกติในช่องปาก ต้องพาไปพบทันตแพทย์ได้ทันที เพื่อป้องกันการเกิดฟันผุลึกจนต้องถอนฟันออกในที่สุด
***
ศูนย์สื่อสารสาธารณะ / 16 สิงหาคม 2561
© DEPARTMENT OF HEALTH : MINISTRY OF PUBLIC HEALTH