วิธีสังเกตการถูกล่วงละเมิดทางเพศในเด็ก
ในปัจจุบันมีเด็กจำนวนมากกำลังเผชิญกับการถูกทำร้าย การถูกล่วงละเมิด ไม่ว่าจะเป็นทั้งทางร่างกายหรือจิตใจ ไม่ว่าจะเกิดจากคนแปลกหน้า เพื่อนบ้าน ครู/อาจารย์ พี่น้อง เพื่อน หรือแม้กระทั่งพ่อแม่
การล่วงละเมิดส่งผลกระทบต่อสภาพจิตใจของเด็กที่ถูกละเมิดเป็นอย่างมาก ซึ่งอาจส่งผลให้เกิดปัญหาต่อไปได้ ทำให้เด็กอับอายและไม่กล้าสู้หน้าใคร และร้ายแรงที่สุดอาจเกิดการตั้งครรภ์ ติดเชื้อโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ เอดส์ การถูกล่วงละเมิดในเด็กไม่อาจจะสามารถตรวจพบได้ตลอดเวลา แต่มีสิ่งที่สามารถทำได้เพื่อช่วยเหลือเด็กได้
สิ่งสำคัญที่สุดสำหรับ พ่อแม่ ผู้ปกครอง คือ การพูดคุยกับเด็กอย่างเปิดใจ ตรงไปตรงมา เอาใจใส่ ปลอบโยน เพื่อให้ความรู้ความเข้าใจว่าเขามีสิทธิที่จะปลอดภัยและไม่ใช่ความผิดของเขาหากเขาอยู่ในสถานการณ์ที่ไม่เหมาะสม เมื่อเขารู้ว่ามีสิทธิในเรื่องความปลอดภัยก็จะมีแนวโน้มที่จะเล่าเรื่องราวการถูกล่วงละเมิดได้มากขึ้น ในกรณีที่ทราบว่าเด็กถูกล่วงละเมิดทางเพศ พ่อแม่ควรปฏิบัติตัวกับเด็กเหมือนเดิมและไม่ควรซักถามถึงเหตุการณ์ดังกล่าวโดยไม่จำเป็นเพื่อไม่ให้เด็กรู้สึกถูกตอกย้ำ การสังเกตอาการด้านร่างกายหรือพฤติกรรมที่เปลี่ยนแปลง
โดยวิธีสังเกตและป้องกันการล่วงละเมิดในเด็ก ได้แก่
1. สังเกตสัญญาณการถูกล่วงละเมิด สัญญาณทางกายที่มองเห็นได้ เช่น รอยฟกช้ำตามร่างกาย
ของส่วนตัวถูกทำลาย ฯลฯ แต่มีสัญญาณที่มองไม่เห็น เช่น เด็กที่ถูกทารุณบ่อยครั้งมักจะแสดงอาการหวาดกลัว ตกใจง่าย วิตกกังวล ไม่ไว้วางใจพฤติกรรมทางเพศที่ไม่เหมาะสม เด็กเหล่านี้มักมีปัญหาในการเข้าหาเพื่อนใหม่ เข้าหาคนอื่น ๆ พฤติกรรมเหล่านี้เป็นสัญญาณความผิดปกติที่ควรให้ความใส่ใจเป็นพิเศษ
2. สังเกตการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม สังเกตพฤติกรรมที่แตกต่างจากปกติหรือมีการจดบันทึกพฤติกรรม เช่น สังเกตเห็นว่าเด็ก มีอาการนอนไม่หลับ ไม่ค่อยกินอาหาร เก็บตัวอยู่คนเดียว หรือเกิดอาการก้าวร้าว สัญญาณเหล่านี้ทำให้เห็นว่าเขากำลังทุกข์ทรมานจากการถูกล่วงละเมิดบางประเภท
3. สังเกตเด็กกลัวบ้านหรือกลัวการไปโรงเรียนหรือไม่ เมื่อสังเกตเห็นว่าเด็กไม่ยอมกลับบ้านหรือไม่ยอมไปโรงเรียนและดูเหมือนว่าเขาจะกลัว เช่น กลัวว่าจะถูกทำร้ายที่บ้าน กลัวการไปโรงเรียนหรือกลัวการเดินทางไปไหนมาไหนกับคนบางคน พฤติกรรมเหล่านี้อาจเป็นสัญญาณว่าเขากำลังถูกทารุณ
4. สังเกตเด็กหมกมุ่นเรื่องเพศมากเกินไป บ่อยครั้งที่เด็กที่ถูกทารุณทางเพศจะแสดงความรู้เกี่ยวกับเพศมากขึ้นกว่าที่ควร เขาอาจแสดงพฤติกรรมทางเพศหรือใช้ภาษาที่ชัดเจนมากขึ้น
5. สังเกตอาการเปลี่ยนแปลงไปจากปกติ เนื่องจากเราไม่สามารถทราบได้ว่ามีเหตุการณ์อะไรเกิดขึ้นกับเด็ก จึงควรสังเกตอาการหรือพฤติกรรมที่ต่างจากไปเดิมเพิ่มเติม เช่น น้ำหนักตัวลดลง หรือหวาดผวา
มากยิ่งขึ้นแปลว่าเด็กกำลังถูกล่วงละเมิดอย่างหนักจนเกิดความหวาดระแวงและไม่อยากกินอาหาร เด็กจะเก็บตัว พูดน้อย ไม่กล้าสู้หน้าคนอื่น
การล่วงละเมิดทางเพศในเด็กนั้นเป็นปัญหาที่อันตรายและร้ายแรง มักจะทำร้ายสภาพจิตใจของเด็ก ทำให้มีสภาพจิตใจที่ไม่เป็นปกติส่งผลเสียต่อทั้งกาย จิตใจ ความสัมพันธ์ของครอบครัว ของโรงเรียน เพื่อนญาติหรือแม้แต่สังคม การให้คำแนะนำสำหรับพ่อแม่ ผู้ปกครอง หรือผู้ดูแลเด็ก เกี่ยวกับการล่วงละเมิด
เป็นสิ่งที่ควรทำนอกจากจะสามารถช่วยเด็กที่ถูกทารุณกรรมได้แล้วยังลดความเสี่ยงของการล่วงละเมิดในเด็กได้
สำนักอนามัยการเจริญพันธุ์
25 พฤษภาคม 2563
แหล่งที่มาอ้างอิง : 1. Sanook. 7 เรื่องควรรู้เพื่อป้องกันการทารุณกรรมเด็ก. สืบค้นใน https://www.sanook.com/women/123939/
2. ปัฐมาพร ใจกล้า และอธิคม ใจกล้า. บทบาทพยาบาลในการดูแลเด็กที่ถูกล่วงละเมิดทางเพศ. JOURNAL OF HEALTH SCIENCE RESEARCH 13(2): July – December 2019.
3. ชุดการเรียนรู้ เพศศึกษารายวิชา พ 23101 สุขศึกษาและพลศึกษา เล่มที่ 4
เรื่อง การถูกล่วงละเมิดทางเพศ สืบค้นใน https://bit.ly/2Xj3EZq
4. สำนักอนามัยการเจริญพันธุ์. คู่มือการจัดการอบรมเรื่องเพศคุยได้ในครอบครัว.
พิมพ์ครั้งที่ 2. ศูนย์สื่อและสิ่งพิมพ์แก้วเจ้าจอม. กรุงเทพฯ
#วัยเรียนวัยรุ่น