ดูแลสุขภาพป้องกันโรคเบาหวาน

  • 16 กรกฎาคม 2562

ดูแลสุขภาพป้องกันโรคเบาหวาน : ในยุคปัจจุบันวิถีชีวิตคนไทยเปลี่ยนแปลงไปจากสมัยก่อน อาหารการกินได้รับอิทธิพลจากฝั่งตะวันตกมากขึ้น นิยมบริโภค อาหารจานด่วน อาหารขยะ ชอบกินขนมหวานดื่มน้ำอัดลม ดื่มน้ำหวาน นอกจากนี้การออกกำลังกายลดลง ผลที่ตามมาของพฤติกรรมเหล่านี้คือ โรคไม่ติดต่อเรื้อรังอันได้แก่ โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง โรคไขมันในเลือดสูงเป็นต้น

ในที่นี้จะขอกล่าวถึงโรคเบาหวาน  โรคเบาหวานเกิดจากการบริโภคอาหารรสหวานหรือแป้งในปริมาณมากเกินพอดี ตับอ่อนจะทำหน้าที่เปลี่ยนน้ำตาลในเลือดไปเป็นพลังงาน แต่เมื่อเรากินน้ำตาลเข้าไปมากๆตับอ่อนทำงานไม่ไหว ไม่สามารถหลั่งอินซูลินที่จะมาเปลี่ยนน้ำตาลไปเป็นพลังงานได้เหมือนเดิม จึงเกิดภาวะน้ำตาลสูงในเลือด ก่อเกิดเป็นโรคเบาหวานนั้นเอง เมื่อเป็นเบาหวานแล้ว จำเป็นจะต้องรักษาเพื่อควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดให้อยู่ในระดับที่ดี มิฉะนั้นอาจเกิดภาวะแทรกซ้อนตามมา คือ  ไตวาย ตาบอด แผลเรื้อรังจนต้องตัดขา

รู้เท่าทันโรคเบาหวาน ช่วยกันระวังพฤติกรรมเสี่ยงทั้งตัวคุณเองและคนที่คุณรัก เพื่อให้ห่างไกลโรคเบาหวาน

  • ความอ้วน คือปัจจัยที่มักมาคู่กับโรคเบาหวาน ประเมินง่ายๆ รู้ได้อย่างไร…ว่าอ้วน โดยวัดรอบเอวไม่เกินครึ่งความสูง  * ตัวอย่างเช่น สูง 168 เซนติเมตร รอบเอวไม่ควรเกิน 168 หาร 2 คือ 84 เซนติเมตร
  • น้ำหนักลด กระหายน้ำบ่อย ปัสสาวะบ่อย หรืออาการที่อาจเกิดจากภาวะแทรกซ้อนของเบาหวาน ได้แก่ ตามัว แผลหายช้า ติดเชื้อทางเดินปัสสาวะ หรือผิวหนังบ่อยๆ หากมีอาการเหล่านี้ควรพบแพทย์ การวินิจฉัยทำได้โดยเจาะเลือดในตอนเช้าหลังงดอาหารข้ามคืนอย่างน้อย 8 ชั่วโมง

ทั้งนี้…ทุกท่านสามารถป้องกันไม่ให้เป็นโรคเบาหวาน…ได้ โดยการลดหรือเลี่ยงอาหารที่มีรสหวานมากๆ กล่าวคือ ควรบริโภคน้ำตาลไม่เกิน ร้อยละ 5 ของพลังงานที่ต้องการต่อวันนั้นเทียบเท่าน้ำตาลทราย ปริมาณ 3 – 6 ช้อนชา ต่อวันเท่านั้น ถ้าใครที่ชอบใส่น้ำตาลในกาแฟหรือเครื่องดื่ม ปรุงน้ำตาลเพิ่มในก๋วยเตี๋ยวหรือทำกับข้าวกินเอง เมื่อรู้อย่างนี้คุณก็สามารถควบคุมการบริโภคน้ำตาลให้น้อยลงได้แล้ว อีกทั้งการออกกำลังกายชนิดแอโรบิก 3 – 5 วัน ต่อสัปดาห์ ครั้งละอย่างน้อย 30 นาที สามารถช่วยลดความเสี่ยงเกิดโรคต่างๆได้ รวมถึงการงดสูบบุหรี่ งดเครื่องดื่ม แอลกอฮอลล์

กลุ่มขับเคลื่อนยุทธศาสตร์และพัฒนากำลังคนฯ ศูนย์อนามัยที่ 2 พิษณุโลก

15 กรกฎาคม 2562

© DEPARTMENT OF HEALTH : MINISTRY OF PUBLIC HEALTH