เหงือกและฟันดีได้ด้วยสมุนไพรใกล้ตัว

  • 5 มกราคม 2564

พืชสมุนไพรและสารสกัดจากธรรมชาติในท้องถิ่นมีอยู่มากมายหลายประเภท สำหรับการดูแลช่องปากก็มีการนำพืชท้องถิ่นที่หาได้ง่ายมาเป็นยารักษาอาการต่างๆในช่องปาก ซึ่งสูตรที่นิยมนำมาใช้กันมีดังนี้

สูตรบรรเทาอาการปวดฟัน

          สมุนไพรที่ใช้โดยส่วนมากจะเป็นเพียงเพื่อระงับอาการปวดชั่วคราว แต่การรักษาอย่างถาวรต้องไปพบทันตแพทย์เพื่อรับการรักษาที่เหมาะสม

ตำรับที่ 1 ใบตำลึง : ใบตำลึง 1 ใบ และดินสอพอง 2 แผ่น ใส่ครกโขลกพอแหลก เติมน้ำเล็กน้อย นำมาพอกข้างแก้มบริเวณที่ปวดฟัน

ตำรับที่ 2 เปลือกข่อย : นำเปลือกข่อยมาต้มกับน้ำและผสมเกลือ 1 ช้อนชา ต้มให้เดือดปล่อยให้เย็น แล้วจึงนำมาอม 2-3 นาที ทำติดต่อกัน 3-4 ครั้ง

สูตรบรรเทาอาการแผลในช่องปาก

          สมุนไพรที่ใช้โดยส่วนมากจะเป็นเพียงเพื่อการรักษาแผลในช่องปากที่เกิดจากการกัด หรือกระแทกเท่านั้น เพราะแผลที่มีอาการปวดแสบ ควรปรึกษาทันตแพทย์เพื่อรับการรักษาที่เหมาะสม

ตำรับที่ 1 เกลือ : ดื่มน้ำเกลือและอมน้ำเกลืออุ่นๆ โดยผสมเกลือประมาณ 2 ช้อนชา ต่อน้ำอุ่น 1 แก้ว อมไว้ในปากนาน 3-5 นาที หรือดื่มวันละ 3 ครั้ง ครั้งละ 1 แก้ว

ตำรับที่ 2 มะนาว : ดื่มน้ำมะนาว โดยบีบมะนาว 1 ลูก แล้วเติมน้ำต้มสุกให้เต็มแก้ว ไม่ต้องเติมน้ำตาล ดื่มวันละ 3 ครั้ง

สูตรช่วยลดปัญหากลิ่นปาก

          สมุนไพรที่ใช้โดยส่วนมากจะเป็นเพียงเพื่อการบรรเทากลิ่นปาก ควรปรึกษาทันตแพทย์เพื่อหาสาเหตุและรักษาอย่างเหมาะสมต่อไป

ตำรับที่ 1 ใบพลู : นำใบพลูมาเคี้ยวหลังอาหารทีละน้อย จะช่วยให้มีลมหายใจที่สะอาด

ตำรับที่ 2 ใบฝรั่ง : นำใบฝรั่งสดมาเคี้ยวหลังมื้ออาหารทุกครั้ง

สูตรบรรเทาอาการเหงือกบวมและอักเสบ

          สมุนไพรที่ใช้โดยส่วนมากจะเป็นเพียงเพื่อการฆ่าเชื้อโรค และลดการบวม ควรปรึกษาทันตแพทย์เพื่อหาสาเหตุและรักษาอย่างเหมาะสมต่อไป

ตำรับที่ 1 ข่า : นำหัวข่าหั่นเป็นแว่น ล้างให้สะอาด ใส่ครกตำให้ละเอียดกับเกลือให้มีรสเค็มจัด ใช้สีฟันและทาเหงือกทุกเช้าและก่อนนอน ทิ้งไว้ 5 นาที แล้วจึงแปรงฟันตามปกติ

ตำรับที่ 2 มะขามป้อม : เอาผลมะขามป้อมทุบพอแตก ต้มกับเกลือในอัตราส่วน 1 : 1 ต้มไปด้วยกันจากทั้งหมด 4 ส่วน จนเหลือประมาณ 1 ส่วน แล้วจึงนำมากรองใส่ขวดไว้อมทุกเช้าก่อนแปรงฟัน ติดต่อกัน 3-5 วัน

การใช้สมุนไพรเป็นเพียงตัวเลือกในการดูแล และบรรเทาอาการต่างๆเท่านั้น การดูแลสุขภาพช่องปากที่ดีที่สุดคือการแปรงฟันด้วยสูตร 2-2-2 และควรพบทันตแพทย์อย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง

กองส่งเสริมความรอบรู้และสื่อสารสุขภาพ กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข

เลขที่ 88/22 ถ.ติวานนท์ ต.ตลาดขวัญ อ.เมือง จ.นนทบุรี

Email prnews@anamai.mail.go.th

โทรศัพท์ 0-2590-4053

ติดตามกรมอนามัย

เรามีสาระสุขภาพดีๆ ส่งตรงถึงอีเมลคุณทุกสัปดาห์

Subscription

© DEPARTMENT OF HEALTH : MINISTRY OF PUBLIC HEALTH