ตรวจช่องปากด้วยตัวเอง ตอนที่ 2
ตรวจช่องปากด้วยตนเอง ดูอะไรบ้าง?
เพราะช่วงนี้ #โควิด19 ยังระบาด
เราเลยอาจต้อง ห่ า ง จากหมอฟันกันสักหน่อย
คราวที่แล้ว เราได้รู้จักวิธีการตรวจช่องปากด้วยตนเองไปแล้ว
คราวนี้ #ฟันยังดี จะมาแนะนำว่า ด้วยวิธีการตรวจดังกล่าว เราควรต้องโฟกัสที่อะไรบ้าง
⚠️1. ขี้ฟันและหินปูน
ในกรณีที่แปรงฟันไม่สะอาด เราจะพบขี้ฟัน (คราบจุลินทรีย์) และหินปูน ที่บริเวณคอฟัน/ขอบเหงือก
โดยขี้ฟันจะมีลักษณะเป็นคราบสีเหลืองที่สามารถกำจัดออกได้ด้วยการแปรงฟันซ้ำ
ถ้าไม่แปรงออก ขี้ฟันจะหนาและเหนียวขึ้นเรื่อยๆ จนกลายเป็นหินปูนสีเหลืองเข้มที่แข็งและไม่สามารถกำจัดออกได้ด้วยตัวเองอีกต่อไป ต้องไปพบทันตแพทย์ค่ะ
⚠️2. สภาพเหงือก
เมื่อตรวจดูขี้ฟันและหินปูนแล้ว ก็ควรดูสภาพเหงือกด้วยว่ามีการอักเสบ บวมแดง มีเลือดออกง่าย (โดยเฉพาะเวลาแปรงฟัน) รวมถึงมีฟันโยกหรือไม่ด้วย เพราะสิ่งต่าง ๆ เหล่านี้เป็นสัญญาณเตือนที่บอกว่าเรามีปัญหาเรื่องเหงือกและกระดูกที่รองรับฟัน
⚠️3. ฟันผุ/รากฟันผุ
ควรลองสังเกตดูว่าฟัน รวมถึงรากฟันของเรามีลักษณะผิดปกติ เช่น มีรอยดำ เป็นรู มีเศษอาหารติดหรือไม่
⚠️4. รอยขาว/แดง หรือแผล/ก้อนนูน
ควรแหวกดูเนื้อเยื่อในช่องปาก ไม่ว่าจะเป็นเหงือก เพดานปาก กระพุ้งแก้ม ด้านบนของลิ้น (แลบลิ้นออกมา) ใต้ลิ้น (ยกลิ้นแตะเพดาน) ด้านข้างลิ้น (ตวัดลิ้นไปด้านซ้ายและขวา) รวมถึงริมฝีปากว่ามีรอยขาว/แดง หรือแผล/ก้อนนูนหรือไม่
⚠️5. กลิ่นปาก
ข้อนี้เป็นของแถม ซึ่งเราสามารถเช็คได้ง่ายๆ โดยเอามือปิดปากและจมูก เป่าลมแรงๆ ออกจากปาก แล้วดม ถ้าพบว่ามีกลิ่นเหม็นก็แสดงว่าช่องปากเราเริ่มมีความผิดปกติแล้ว
หากพบอาการข้างต้น เราก็ควรเพิ่มการดูแลช่องปากด้วยการแปรงฟันแบบ 2-2-2 ร่วมกับทำความสะอาดซอกฟันไปพลางก่อน เมื่อสถานการณ์โควิด19 ดีขึ้น จึงค่อยไปพบหมอฟัน ยกเว้นในกรณีฉุกเฉิน เช่น มีการปวด บวม เลือดไหลในช่องปากไม่หยุด ก็สามารถไปพบหมอฟันได้ทันที
หากมีคำถามหรือต้องการคำปรึกษาเรื่องฟัน สามารถถามเราหรือกลุ่มทันตแพทย์จิตอาสาได้ โดยการเพิ่มเพื่อนทาง Line: @dentcovid หรือ https://lin.ee/eEwPea0
ด้วยรักและห่วงใย จาก #ฟันยังดี เกร็ดความรู้เรื่องสุขภาพช่องปากและฟันสำหรับ ‘คนวัยเก๋า’ โดย กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข
โดยสามารถติดตามฟันยังดี ได้ที่
1. LINE: @funyoungdee และ 2. กดไลค์กดติดตาม Facebook ฟันยังดี