น้ำดื่ม-น้ำใช้ ต้องเป็นน้ำที่สะอาดปราศจากสิ่งเจือปน หรือสารพิษต่างๆ
1. การจัดหาแหล่งน้ำที่ถูกสุขลักษณะ
ระบบประปา
ถังเก็บน้ำฝนประจำครอบครัว
บ่อน้ำตื้น ต้องสร้างให้ถูกหลักสุขาภิบาล ห่างไกลจากส้วม คอกสัตว์ หลุมฝังกลบขยะ และแหล่งมลพิษ
บ่อน้ำบาดาล เป็นบ่อน้ำลึก มีปริมาณน้ำมาก และคุณภาพน้ำอยู่ในเกณฑ์ดี
2. การต้ม เป็นวิธีทำน้ำให้สะอาดที่ง่าย สะดวก ประหยัด และปลอดภัยที่สุด โดยต้มให้เดือดอย่างน้อย 5 นาที
3. การกรอง เป็นวิธีการปล่อยให้น้ำไหลผ่านชั้นของวัตถุ คือ ทรายละเอียด ทรายหยาบ ถ่าน กรวดละเอียด กรวดหยาบ อิฐหัก เป็นต้น ดิน ฝุ่นละออง และเชื้อโรคที่ลอยอยู่ในน้ำจะถูกกรอง แต่อาจจะมีเชื้อโรคปะปนอยู่
4. การกลั่น เป็นวิธีทำน้ำสะอาดที่เสียค่าใช้จ่ายมากแต่ได้น้ำที่บริสุทธิ์ที่สุด โดยต้มน้ำให้กลายเป็นไอ แล้วปล่อยให้ผ่านไปในท่อเย็น ไอน้ำก็จะกลั่นตัวกลายเป็นหยดน้ำ นิยมนำไปใช้ในวงการแพทย์หรือใช้ในงานอุตสาหกรรมบางอย่าง
5. การทำให้ตกตะกอน เป็นวิธีที่ง่ายและใช้กันทั่วไป โดยแกว่งสารส้มแล้วตั้งทิ้งไว้ประมาณครึ่งชั่วโมง สิ่งสกปรกจะตกตะกอนลงไปอยู่ที่ก้นของภาชนะ น้ำยังอาจมีเชื้อโรคหรือแร่ธาตุต่างๆ อยู่
6. การใช้สารเคมี เพื่อต้องการฆ่าเชื้อโรค สารเคมีที่ใช้ ได้แก่
คลอรีน เติมลงในน้ำ คนให้ละลาย แล้วดมกลิ่น ถ้าได้กลิ่นคลอรีนเล็กน้อยถือว่าใช้ได้ ปิดฝาทิ้งไว้ ๓๐ นาที จากนั้นเปิดฝาเพื่อให้คลอรีนระเหยก่อนจึงนำไปใช้ได้
ด่างทับทิม ละลายด่างทับทิมเข้ากับน้ำจนเป็นสีชมพูอ่อนก็นำไปใช้ได้
ทิงเจอร์ไอโอดีน หยดลงในน้ำประมาณ 5-6 หยดต่อน้ำ 1 ลิตร แล้วตั้งทิ้งไว้ 20-30 นาที
7. น้ำดื่มบรรจุขวด ควรเลือกที่ไม่มีสี ไม่มีกลิ่น ไม่มีการตกตะกอน
ภาชนะที่ใช้บรรจุน้ำดื่มน้ำใช้ต้องสะอาด และมีฝาปิดให้มิดชิด เพื่อป้องกันสิ่งปนเปื้อน ทั้งไม่ให้เป็นแหล่งเพาะพันธุ์ยุง
ศูนย์อนามัยกลุ่มชาติพันธุ์ ชายขอบ และแรงงานข้ามชาติ (ศอช.)
24 กุมภาพันธ์ 2562