โภชนาการ

รู้จักสารพฤกษเคมี ในผลไม้ 5 สี

  • 13 กันยายน 2562

เมืองไทยมีผลไม้มากมายหลายชนิดให้ เลือกกิน  แต่หากแบ่งตามลักษณะสีผลไม้นั้นๆ ก็จะเห็นถึงคุณค่าและประโยชน์มากมายมหาศาล ผลไม้หลายประเภทให้ สารพฤกษเคมี (Phytochemicals)” ซึ่งเป็นสารเคมีที่มีฤทธิ์ทาง ชีวภาพที่พบในพืช  ทำให้พืชผักและผลไม้  มีสี กลิ่น และรสชาติเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว พบมากในกลุ่มผลไม้ 5 สี ที่ให้สารพฤกษเคมีเพื่อช่วยส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรคได้แตกต่างกัน

ผลไม้สีแดง / ชมพูอมม่วง มีสารไลโคปีน  (Lycopene)  และบีทาเลน(Betalain)  ซึ่งเป็นสารต้านอนุมูลอิสระป้องกันมะเร็ง และทำให้หัวใจแข็งแรง พบได้ในแตงโม มะเขือเทศ แก้วมังกรเนื้อชมพู  บีทรูท ตะขบ สตรอเบอร์รี่ ฝรั่ง และมะละกอเนื้อแดง

ผลไม้สีเขียว นอกจากมีสารคลอโรฟิลล์  (Chlorophyll)แล้ว ยังมีสารลูทีน (Lutin) ที่ช่วยต้านอนุมูลอิสระ ป้องกันมะเร็ง และลดการเสื่อมของจอประสาทตา ผลไม้ในกลุ่มนี้ ได้แก่ ฝรั่ง อะโวคาโด แก้วมังกร น้อยหน่า แตงไทย องุ่นเขียว ชมพู่เขียว แอปเปิลเขียว และมะกอกน้ำ 

ผลไม้สีน้ำเงิน / ม่วง มีสารแอนโทไซยานิน  (Anthocyanin)และกลุ่มโพลิพีนอล  (Polyphenol)ซึ่งเป็นสารต้านอนุมูลอิสระช่วยป้องกันมะเร็งและไขมันอุดตันในหลอดเลือดชะลอความเสื่อมของเซลล์ผลไม้ในกลุ่มนี้  ได้แก่  องุ่นแดง  องุ่นม่วง  ชมพู่มะเหมี่ยว ลูกหว้า ลูกไหน และลูกพรุน

ผลไม้สีขาว / สีน้ำตาล มีสารฟลาโวนอยด์  (Flavonoid)  หลายชนิดต้านอนุมูลอิสระ ลดการแบ่งตัวเซลล์มะเร็ง ต้านการอักเสบ ลดการปวดข้อเข่า พบมากในเนื้อและเปลือกมังคุด ฝรั่ง แอปเปิล แก้วมังกรเนื้อขาว เเละผลไม้อื่นๆ เช่นกล้วย พุทรา ลางสาด ลองกอง เงาะ ลิ้นจี่

ผลไม้สีเหลือง / สีส้ม มีสารเบต้าแคโรทีน (Beta-carotene) สูงช่วยต้านอนุมูลอิสระ ป้องกันมะเร็ง ช่วยต้านการอักเสบ และเพิ่มระบบภูมิคุ้มกัน พบมากในมะม่วงสุก มะละกอสุก กล้วย แคนตาลูปสีเหลือง สับปะรด 

            การจัดกลุ่มผลไม้ตามสีจะทำให้ง่ายต่อการเลือกกิน  และจะได้รับสารพฤกษเคมีที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย โดยควรกินให้ครบทุกสีในแต่ละวัน

            แต่ต้องให้เหมาะสมกับฤดูกาลด้วย เพราะจะทำให้ได้ผลไม้ที่สด และราคาไม่แพง

 

© DEPARTMENT OF HEALTH : MINISTRY OF PUBLIC HEALTH

ดาวน์โหลด eBook สุขภาพ

แหล่งข้อมูลความรู้เกี่ยวกับสุขภาพพร้อมให้คุณดาวน์โหลดไปศึกษาฟรี!