ข้อแนะนำการออกกำลังกายในภาวะฝุ่น
วันที่ 31 มกราคม 2562
- สถานการณ์ ความสำคัญ ปัญหาที่พบ
สิบเนื่องสถานการณ์ปัจจุบัน ระดับค่าฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 ที่เกินค่ามาตรฐาน ในหลายจุดทั่วกรุงเทพมหานคร กรมอนามัย ได้ออกคำเตือน ให้ประชาชนลดหรืองดการออกกำลังกายกลางแจ้ง เพราะการออกกำลังกายกลางแจ้ง เช่น การวิ่ง การปั่นจักรยาน การเล่นฟุตบอล จะส่งผลทำให้อัตราการหายใจเพิ่มมากขึ้น 35-45 ครั้งต่อนาที แสดงดังตาราง โอกาสที่ฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 จะแพร่กระจายเข้าสู่ระบบทางเดินหายใจ ถุงลมในปอด และผ่านเข้าสู่กระแสเลือดไปยังอวัยวะต่าง ๆได้มากขึ้น เพิ่มความเสี่ยงต่อภาวะหัวใจวาย หลอดเลือดในสมองตีบ ปอดอุดกั้นเรื้อรัง รวมไปถึงการกำเริบของโรคหัวใจและหอบหืดได้
ตารางแสดง ความถี่ของการหายใจขณะออกกำลังกายมากที่สุด หากเทียบกับกลุ่มอายุอื่น ๆ ดังนี้
กลุ่มเสี่ยง | การหายใจ (ครั้งต่อนาที) |
ทารกแรกคลอด | 44 |
เด็กทารก | 20 – 40 |
เด็กก่อนวัยเรียน | 20 – 30 |
เด็กวัยรุ่น | 16 – 25 |
ผู้ใหญ่ | 12 – 20 |
ผู้ใหญ่ขณะออกกำลังกาย | 35 – 45 |
- ข้อเสนอแนะ
ควรแนะนำให้ ประชาชน ควรลดหรืองดการออกออกกำลังกายกลางแจ้ง แต่หากต้องการออกกำลังกายจริงๆ มีข้อคำแนะนำในการออกกำลังกายสำหรับประชาชนดังนี้
- สำหรับประชาชนทั่วไป ควรหลีกเลี่ยงการออกกำลังกายหรือเข้าไปมีกิจกรรมที่ต้องใช้แรงกายมากกลางแจ้งเป็นระยะเวลานาน โดยหากหลีกเลี่ยงไม่ได้ก่อนออกกำลังกายกลางแจ้งควรปฏิบัติตามคำแนะนำ คือ
1.1. ติดตามสถานการณ์ฝุ่นละอองจากช่องทางที่สามารถเชื่อถือได้
– เมื่อระดับฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 สูงกว่า 50 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร (ระดับสีส้ม) ควรหลีกเลี่ยงการออกกำลังกายกลางแจ้ง เปลี่ยนมาเป็นออกกำลังกายในร่ม หรือในบ้านแทน เช่น เปิดคลิปวีดีโอออกกำลังกายประเภทต่างๆแล้วทำตามที่บ้าน หรือ ออกกำลังกายตามสถานที่ต่างๆที่มีสนามในร่ม เช่น คอร์ดแบดมินตัน วอลเล่ย์บอล บาสเกตบอล ปิงปอง สระว่ายน้ำในร่ม ฯลฯ
– เมื่อระดับฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 สูงกว่า 90 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร (ระดับสีแดง) ให้งดการออกกำลังกายกลางแจ้ง เปลี่ยนมาเป็นออกกำลังกายในอาคาร สถานที่ออกกำลังกาย (ยิม) หรือว่ายน้ำในสระว่ายน้ำระบบปิดแทน
1.2. ไม่ควรสวมใส่หน้ากากอนามัย N 95 ขณะออกกำลังกายอย่างเด็ดขาด เพราะจะทำให้ระบบหัวใจและหลอดเลือดทำงานหนักมากขึ้น เนื่องจากการออกกำลังกาย จะทำให้ร่างกายต้องหายใจแรงขึ้น เร็วขึ้น ลมผ่านทางปากเข้าปอดโดยตรงมากขึ้นกว่าหายใจปกติ
- สำหรับประชาชนกลุ่มเสี่ยง ได้แก่ ผู้สูงอายุ หญิงตั้งครรภ์ เด็กเล็ก ผู้ป่วยด้วยโรคประจำตัว เช่น โรคระบบทางเดินหายใจ หอบหืด ภูมิแพ้ โรคหัวใจ ซึ่งกลุ่มนี้เป็นกลุ่มที่มีความเสี่ยงสูง ให้งดการออกกกำลังกายกลางแจ้ง แนะนำให้พักผ่อนอยู่ในบ้าน เตรียมยาให้พร้อม หากออกจากบ้านให้สวมหน้ากากป้องกันและสังเกตอาการผิดปกติ เช่น ไอบ่อย หายใจลำบาก หายใจถี่ หายใจมีเสียงวี๊ด แน่นหน้าอก เจ็บหน้าอก ใจสั่น คลื่นไส้ เมื่อยล้าผิดปกติ ให้รีบไปพบแพทย์โดยด่วน
- สำหรับประชาชนที่นิยมการวิ่งแข่งขันมาราธอน ช่วงนี้แนะนำให้หลีกเลี่ยง หรืองดกิจกรรมดังกล่าวไปก่อน เพราะการวิ่งแข่งขันมาราธอนต้องใช้เวลาวิ่งกลางแจ้งเป็นเวลานานว่าปกติ ซึ่งการวิ่งเป็นระยะเวลานานจะส่งผลเสียต่อสุขภาพทั้งในระยะสั้น และระยะยาว เพราะขณะวิ่งอัตราการหายใจจะเพิ่มมากขึ้น ส่งผลให้ร่างกายต้อง หายใจลึกขึ้น หายใจเร็ว ผลระยะสั้นที่เกิดขึ้นต่อร่างกายทันที คือ ระคายเคืองทางเดินหายใจ เจ็บคอ น้ำมูกไหล ส่วนผลในระยาว คือ เพิ่มความเสี่ยงต่อภาวะหัวใจวาย หลอดเลือดในสมองตีบ ปอดอุดกั้นเรื้อรัง เป็นต้น
แต่ทั้งนี้ ประชาชนสามารถใช้ชีวิตประจำวันได้ตามปกติ ไม่ควรตื่นตระหนก แต่ให้ตื่นตัวและติดตามข่าวสารเรื่องดังกล่าวจากทางราชการอย่างใกล้ชิด และเมื่อคุณภาพอากาศดีขึ้น ก็ควรกลับมาออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ เพราะการดูแลสุขภาพด้วยการออกกำลังกายเป็นสิ่งสำคัญมากที่สุด จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของช่วยให้ร่างกายแข็งแรง ปอด หัวใจ และทำให้การไหลเวียนของเลือดดีขึ้น
- Reference และผู้เชี่ยวชาญที่เกี่ยวข้อง
ผู้เชี่ยวชาญที่เกี่ยวข้อง
นพ.อุดม อัศวุตมางกุร ผู้อำนวยการกองกิจกรรมทางกายเพื่อสุขภาพ