แหล่งน้ำศักดิ์สิทธิ์ ดื่ม-อาบ มีสิทธิ์รับเชื้อโรคปนเปื้อน
กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข เตือน ประชาชนที่มีความเชื่อเมื่อพบแหล่งน้ำผุดตามสถานที่ต่างๆ ว่าเป็นน้ำศักดิ์สิทธิ์ นำมาดื่ม อาบนั้น อาจจะมีอันตรายต่อสุขภาพเพราะเป็นน้ำที่ไม่สะอาด ไม่เหมาะสมสำหรับใช้ดื่มกิน เสี่ยงต่อการได้รับสารพิษและเชื้อโรค
นายแพทย์ดนัย ธีวันดา รองอธิบดีกรมอนามัย เปิดเผยว่า การนำน้ำที่ผุดขึ้นมาจากสถานที่ต่างๆ โดยเฉพาะน้ำที่ผุดมาจากพื้นดิน ซอกหิน ถ้ำ และเชื่อว่าเป็นน้ำศักดิ์สิทธิ์ไปดื่มหรืออาบเพื่อรักษาโรคนั้น ไม่ควรทำอย่างยิ่ง เพราะหากไม่มีการพิสูจน์แหล่งที่มาหรือคุณภาพน้ำให้ชัดเจน ก็จะมีความเสี่ยงต่อการปนเปื้อนสารเคมีและเชื้อโรคได้เสี่ยงต่อการเกิดโรคท้องร่วง โรคผิวหนัง และได้รับสารพิษสะสม เพื่อความมั่นใจ ควรให้ทางราชการเข้าไปตรวจสอบ คุณภาพน้ำก่อน ทั้งนี้จากการสุ่มตรวจสอบคุณภาพน้ำบริโภคในปี 2561 พบว่า มีคุณภาพเหมาะสมสำหรับการบริโภคเพียงร้อยละ 40.13 โดยน้ำประปา น้ำตู้หยอดเหรียญ และน้ำบรรจุถัง 20 ลิตร มีคุณภาพเหมาะสมสำหรับการบริโภคมากที่สุด ส่วนน้ำที่มาจากแหล่งน้ำธรรมชาติที่ประชาชนใช้บริโภคนั้น ไม่มีความเหมาะสมสำหรับการนำมาบริโภคเลย สาเหตุสำคัญคือปนเปื้อนโคลิฟอร์มแบคทีเรียและฟีคัลโคลิฟอร์มแบคทีเรีย ซึ่งบ่งบอกว่ามีโอกาสปนเปื้อนจากเชื้อโรคสูง
“ทั้งนี้ ประชาชนควรให้ความสำคัญกับการเลือกน้ำสำหรับบริโภคในครัวเรือน ควรเลือกดื่มน้ำที่สะอาดและราคาถูก เช่น น้ำประปา ที่มีกระบวนการผลิตได้มาตรฐาน น้ำมีคุณภาพเหมาะสมต่อการบริโภค ที่สำคัญมีคลอรีนสำหรับฆ่าเชื้อโรคตกค้างอยู่ด้วย ซึ่งสังเกตง่ายๆ จะได้กลิ่นคลอรีนในน้ำประปาซึ่งบ่งบอกว่าน้ำประปาสะอาดและปลอดภัย” รองอธิบดีกรมอนามัย กล่าว
***
ศูนย์สื่อสารสาธารณะ / 15 กุมภาพันธ์ 2562