COVID-19

คู่มือสำหรับเจ้าหน้าที่ : การป้องกันตนเองจากโรค COVID-19 สำหรับผู้ปฏิบัติงานดูแลรักษาความสะอาด

  • 23 เมษายน 2563

การป้องกันตนเองจากโรค COVID-19 สำหรับผู้ปฏิบัติงานดูแลรักษาความสะอาด

ผู้ปฏิบัติงานหรือพนักงานเก็บรวบรวมขยะมูลฝอย และพนักงานทำความสะอาดในสถานที่ทั่วไปที่ไม่ใช่สถานบริการสาธารณสุข ต้องปฏิบัติงานหน้าที่ที่มีความเสี่ยงต่ออุบัติเหตุและความไม่ปลอดภัยในการทำงาน มีโอกาสสัมผัสกับเชื้อโรคต่าง ๆ ได้ง่าย โดยเฉพาะในช่วงที่มีการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) โรคนี้สามารถติดต่อทางน้ำมูก น้ำลาย เสมหะ จึงอาจมีการปนเปื้อนในมูลฝอยจากผู้ป่วยหรือผู้ได้รับเชื้อได้ นอกจากนี้ ห้องน้ำห้องส้วมเป็นอีกแหล่งที่อาจมีความเสี่ยงต่อการแพร่กระจายเชื้อโรคได้เช่นเดียวกัน จากการที่ผู้ป่วยหรือผู้ติดเชื้อใช้งาน ผู้ปฏิบัติงานจึงต้องมีความรู้ ความเข้าใจในการป้องกันตนเอง เพื่อให้สามารถปฏิบัติตนได้อย่างถูกต้องและปลอดภัยมากที่สุด

ชุดอุปกรณ์ป้องกันอันตรายส่วนบุคคลที่เหมาะสมสำหรับผู้ปฏิบัติงานเก็บขยะมูลฝอย และพนักงานทำความสะอาด ประกอบด้วย

  1. หน้ากากผ้า หรือหน้ากากปิดปากและจมูก
  2. ถุงมือยางหนา
  3. ผ้ายางกันเปื้อน
  4. รองเท้าพื้นยางหุ้มแข้ง
  5. แว่นป้องกันตา
  6. หมวกคลุมผม

ข้อปฏิบัติสำหรับพนักงานทำความสะอาด

  1. ก่อนการปฏิบัติงาน
    • กรณีผู้ปฏิบัติงานมีอาการเจ็บป่วย เช่น มีไข้ ไอ จาม มีน้ำมูก หรือเหนื่อยหอบ ให้หยุดปฏิบัติงาน ให้แจ้งหัวหน้างานและพบแพทย์ทันที
    • ควรปิดกั้นบริเวณพื้นที่หรือพื้นผิวที่ปนเปื้อนเชื้อก่อนดำเนินการ
    • สวมใส่ชุดอุปกรณ์ป้องกันอันตรายส่วนบุคคลที่เหมาะสม
    • เลือกใช้อุปกรณ์ทำความสะอาดที่มีด้ามจับ เพื่อลดการสัมผัสโดยตรงกับพื้นผิว
  2. ระหว่างปฏิบัติงาน
    • เปิดประตู หน้าต่าง เพื่อการระบายอากาศ ในขณะทำความสะอาด หรือเมื่อใช้น้ำยาฆ่าเชื้อหรือ
      น้ำยาฆ่าเชื้อที่มีส่วนประกอบของคลอรีน เช่น โซเดียมไฮโปคลอไรท์ หรือน้ำยาฟอกขาว
    • ควรใช้วิธีเช็ดทำความสะอาดไม่ควรพ่นด้วยสเปรย์ลงบนพื้นผิวโดยตรงเนื่องจากจะเป็นการทำให้เสมหะที่ตกอยู่บนพื้นผิวฟุ้งกระจายเป็นละอองขึ้นมาได้
    • หากถุงมือชำรุดเสียหายมีรอยรั่วให้ถอดถุงมือออกล้างมือด้วยสบู่และน้ำ แล้วใช้ถุงมือคู่ใหม่
    • ล้างมือให้สะอาดด้วยน้ำและสบู่ทุกครั้ง หลังสัมผัสขยะมูลฝอยหรือสิ่งสกปรก หลีกเลี่ยงการ ใช้มือสัมผัสใบหน้า ตา ปาก จมูก โดยไม่จำเป็น
  3. หลังจากปฏิบัติงาน
    • อุปกรณ์ทำความสะอาดให้ทิ้งในถุง และรัดปากถุงให้แน่น
    • อุปกรณ์ที่ต้องการนำมาใช้ใหม่ เช่น ถุงมือยางหนา ให้ฆ่าเชื้อโดยการแช่น้ำยาฆ่าเชื้อที่มีส่วนประกอบของคลอรีน เช่น โซเดียมไฮโปคลอไรท์ ความเข้มข้น 5,000 ppm เป็นเวลา 30 นาที หรือต้มในน้ำร้อน
    • เมื่อเสร็จงาน ให้ถอดชุดอุปกรณ์ป้องกันอันตรายส่วนบุคคล ชำระล้างร่างกายให้สะอาด เปลี่ยนเสื้อผ้า ก่อนออกจากพื้นที่ปฏิบัติงาน หรือก่อนกลับบ้าน

ข้อปฏิบัติสำหรับผู้ปฏิบัติงานเก็บขยะมูลฝอย

  1. ก่อนการปฏิบัติงาน
    • กรณีผู้ปฏิบัติงานมีอาการเจ็บป่วย เช่น มีไข้ ไอ จาม มีน้ำมูก หรือเหนื่อยหอบ ให้หยุดปฏิบัติงาน ให้แจ้งหัวหน้างานและพบแพทย์ทันที
    • สวมใส่ชุดอุปกรณ์ป้องกันอันตรายส่วนบุคคลที่เหมาะสม
  2. ระหว่างปฏิบัติงาน
    • ปฏิบัติงานด้วยความระมัดระวัง และคำนึงถึงการป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อโรค เลือกใช้
      อุปกรณ์เก็บขยะที่มีด้ามจับ เพื่อลดการสัมผัสโดยตรงกับขยะมูลฝอย
    • ล้างมือให้สะอาดด้วยน้ำและสบู่ทุกครั้ง หลังสัมผัสขยะมูลฝอยหรือสิ่งสกปรก และหลีกเลี่ยงการใช้มือสัมผัสใบหน้า ตา ปาก จมูก โดยไม่จำเป็น
    • หากถุงมือชำรุดเสียหายมีรอยรั่วให้เปลี่ยนถุงมือคู่ใหม่
    • งดพูดคุยระหว่างปฏิบัติงาน
  3. หลังจากปฏิบัติงาน ให้ถอดอุปกรณ์ป้องกันอันตรายส่วนบุคคล และชำระล้างร่างกายให้สะอาด เปลี่ยนเสื้อผ้า ก่อนออกจากสถานที่ปฏิบัติงาน

ข้อมูล ณ วันที่ 26 มีนาคม 2563

© DEPARTMENT OF HEALTH : MINISTRY OF PUBLIC HEALTH

ดาวน์โหลด eBook สุขภาพ

แหล่งข้อมูลความรู้เกี่ยวกับสุขภาพพร้อมให้คุณดาวน์โหลดไปศึกษาฟรี!