COVID-19

คู่มือสำหรับเจ้าหน้าที่ : คำแนะนำการจัดการมูลฝอยสำหรับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ในสถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19)

  • 23 เมษายน 2563

คำแนะนำการจัดการมูลฝอยสำหรับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในสถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19)

องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีบทบาทหน้าที่ตามกฎหมายในการเก็บ ขน และกำจัดมูลฝอยที่เกิดขึ้นในพื้นที่อย่างถูกต้อง โดยเฉพาะในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ได้เกิดขึ้นในหลายพื้นที่ทั่วประเทศ ก่อให้เกิดมูลฝอยซึ่งเกิดจากมาตรการควบคุมและป้องกันการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVD-19) เป็นจำนวนมาก และมูลฝอยเหล่านี้จำเป็นต้องได้รับการจัดการอย่างถูกต้องและมีประสิทธิภาพ เพื่อลดและป้องกันการแพร่ของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 รวมถึงเพื่อความปลอดภัยของผู้ปฏิบัติงานที่เกี่ยวข้องและประชาชน จึงมีคำแนะนำในกาจัดการมูลฝอย ดังนี้

คำแนะนำสำหรับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น

  1. ให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นกำหนดมาตรการและแนวทางในการจัดการมูลฝอยที่เกิดขึ้นในพื้นที่รับผิดชอบตั้งแต่การคัดแยกระดับครัวเรือน การเก็บรวบรวม การขน และการกำจัด รวมถึงวางเผนการจัดการมูลฝอยโดยพิจารณาตามประเภทความเสี่ยงของมูลฝอย
  2. การคัดแยกมูลฝอยจากแหล่งกำเนิด จัดให้มีมาตการเพื่อให้ประชาชนคัดแยกมูลฝอยเป็น 3 ประเภท ดังนี้
    • มูลฝอยทั่วไป เช่น เศษกระดาษ ถุงพลาสติก ภาชนะใส่อาหารแบบใช้ครั้งเดียว เป็นต้น
    • มูลฝอยรีไซเคิล เช่น ขวดแก้ว ขวดพลาสติก เป็นต้น
    • มูลฝอยที่เป็นพิษหรืออันตรายจากชุมชน เช่น ภาชนะบรรจุน้ำยาฆ่าเชื้อ ขวดน้ำยาล้างห้องน้ำ กระป๋องสเปรย์ เป็นต้น
    • ทั้งนี้ กรณีมูลฝอยที่ปนเปื้อนน้ำมูกน้ำลาย สารคัดหลั่งของผู้ที่แยกสังเกตอาการที่บัาน เช่น หน้ากากอนามัย กระดาษทิชชู เป็นตัน ควรแนะนำให้ประชาชนแยกจัดการ โดยในแต่ละวันให้เก็บรวบรวมและทำลายเชื้อโดยใส่ถุงขยะ 2 ชั้น โดยถุงขยะใบแรกที่บรรจุมูลฝอยแล้วให้ราดด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อหรือน้ำยาฟอกขาว จากนั้นมัดปากถุงให้แน่น แล้วซ้อนด้วยถุงขยะอีก 1 ชั้น มัดปากถุงให้แน่นอีกครั้ง นำไปทิ้งรวมกับมูลฝอยทั่วไป หรือเก็บรวบรวมแยกไว้เฉพาะตามที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นกำหนด
  3. จัดให้มีจุดรวบรวมมูลฝอย พร้อมภาชนะรองรับที่มีฝาปิดอย่างเพียงพอและทั่วถึง ทั้งนี้ อาจกำหนดจุดรวบรวมเฉพาะสำหรับชุมชน หรือครัวเรือน หรือบ้านที่มีผู้ที่แยกสังเกตอาการที่บ้าน
  4. จัดเตรียมยานพาหนะสำหรับการขนมูลฝอย โดยอาจแยกตามประเภทมูลฝอย
  5. การเก็นรวบรวมและการขนมูลฝอย ต้องควบคุมกำกับให้ผู้ปฏิบัติงานเก็บขน หรือกำจัดมูลฝอยปฏิบัติงานด้วยความปลอดภัย และจัดเตรียมความพร้อมสำหรับผู้ปฏิบัติงานเก็บขน หรือกำจัดมูลฝอย โดยให้ความรู้หรือคำแนะนำแก่ผู้ปฏิบัติงานในหลักความปลอดภัยในการปฏิบัติงาน
    • จัดให้มีการคัดกรองเบื้องต้น โดยสังเกตอาการป่วยของผู้ปฏิบัติงานเก็บขน หรือกำจัดมูลฝอย หรือการตรวจวัดอุณหภูมิร่างกาย หากพบผู้ปฏิบัติงานมีการเจ็บป่วย เช่น มีไข้ ไอ จาม มีน้ำมูก หรือเหนื่อยหอบ ให้หยุดปฏิบัติงานและพบแพทย์ทันที
    • จัดให้มีอุปกรณ์ป้องกันอันตรายส่วนบุคคลที่เหมาะสมและเพียงพอ ได้แก่ หน้ากากผ้า หรือหน้ากากอนามัย ถุงมือยางหนา ผ้ายางกันเปื้อน รองพื้นยางหุ้มแข้ง แว่นป้องกันตา เป็นต้น รวมทั้งกำชับให้ผู้ปฏิบัติงานเก็บขน หรือกำจัดมูลฝอยสวมใส่อุปกรณ์ป้องกันอันตรายส่วนบุคคลขณะปฏิบัติงานอย่างเคร่งครัด
    • จัดให้มีอุปกรณ์สำหรับทำความสะอาดมือ เช่น สบู่ เจลแอลกอฮอล์
    • จัดเตรียมอุปกรณ์ทำความสะอาด สารทำความสะอาด และสารฆ่าเชื้อ สำหรับทำความสะอาด ยานพาหนะขนมูลฝอย อุปกรณ์ป้องกันอันตรายส่วนบุคคลให้เพียงพอ เช่น ผงชักฟอก น้ำยาที่มีส่วนประกอบของคลอรีน หรือสารโซเดียมไฮโปคลอไรท์ เป็นต้น
    • ควบคุมกำกับให้ผู้ปฏิบังานเก็บขน หรือกำจัดมูลฝอยปฏิบัติตามคำแนะนำสำหรับผู้ปฏิบัติงานโดยเคร่งครัด
  6. การกำจัดมูลฝอยให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นควบคุมกำกับ หรือดำเนินการนำมูลฝอยไปกำจัดให้ถูกต้องตามประเภทของมูลฝอย ดังนี้
    • มูลฝอยทั่วไป ให้นำไปกำจัดโดยวิธีการฝังกลบแบบถูกหลักสุขาภิบาล หรือการเผาในเตาเผา
    • มูลฝอยที่เป็นพิษหรืออันตรายจากชุมชน ให้รวบรวมและส่งไปกำจัดโดยวิธีฝังกลบแบบปลอดภัยหรือการเผาในเตาเผา
    • กรณีองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีสถานที่กำจัดมูลฝอยในพื้นที่ ต้องจัดให้มีมาตรการ ห้ามมิให้มีการเปิดถุงมูลฝอยหรือการคุ้ยเขี่ยระหว่างการเก็บขน รวมถึงในสถานที่กำจัดด้วย
  7. กรณีในพื้นที่มีการจัดตั้งสถานที่เฉพาะสำหรับการสังเกตอาการโรค หรือการดูแลผู้ป่วย หรือกลุ่มเสี่ยงให้ปฏิบัติดังนี้
    • ประสานหน่วยงานรับผิดชอบสถานที่นั้น และหน่วยงานสาธารณสุขในพื้นที่ เพื่อวางแนวทางในการจัดการมูลฝอยที่เกิดขึ้น
    • ประเมินแนวทางการจัดการมูลฝอยและกำหนดวิธีการคัดแยก การเก็บรวบรวม การขน และการนำไปกำจัดอย่างถูกต้อง
  8. กรณีองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นไม่มีระบบเก็บขนและกำจัดมูลฝอย ตัองจัดให้มีมาตรการรวมถึงการให้คำแนะนำแก่ประชาชนในการจัดการมูลฝอยอย่างเหมาะสม โดยคำนึงถึงความปลอดภัยและการป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อโรคเป็นสำคัญ
  9. กรณีการจัดการมูลฝอยติดเชื้อให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นควบคุมกำกับให้แหล่งกำเนิดมูลฝอยติดเชื้อรวมถึงผู้ดำเนินกิจการรับเก็บขน และกำจัดมูลฝอยติดเชื้อ ปฏิบัติให้เป็นไปตามกฎกระทรวงว่าด้วยการกำจัดมูลฝอยติดเชื้อ พ.ศ. 2545 อย่างเคร่งครัด
  10. จัดให้มีการสื่อสารประชาสัมพันธ์ผ่านช่องทางต่าง ๆ เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจให้กับประชาชนในการจัดการมูลฝอยที่ถูกต้อง เช่น คำแนะนำการจัดการมูลฝอยสำหรับประชาชน คำแนะนำการจัดการมูลฝอยสำหรับผู้ที่แยกสังเกตอาการที่บ้าน รวมถึงสุขอนามัยส่วนบุคคลในการป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) เป็นต้น

คำแนะนำข้อปฏิบัติสำหรับผู้ปฏิบัติงานเก็บขน หรือกำจัดมูลฝอยขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น

  1. เตรียมการก่อนปฏิบัติงาน
    • กรณีผู้ปฏิบัติงานมีอาการเจ็บปวย เช่น มีไข้ ไอ จาม มีน้ำมูก หรือเหนื่อยหอบ ให้หยุดปฏิบัติงาน โดยแจ้งหัวหน้างานและพบแพทย์ทันที
    • สวมชุดอุปกรณ์ป้องกันอันตรายส่วนบุคคลที่เหมาะสมสำหรับผู้ปฏิบัติงานเก็บขน หรือกำจัดมูลฝอย ได้แก่ หน้ากากผ้าหรือหน้ากากอนามัย ถุงมือยางหนา ผ้ายางกันเปื้อน รองพื้นยางหุ้มแข้ง แว่นป้องกันตา เป็นต้น ทั้งนี้ ให้ปฏิบัติตามมาตรการและคำแนะนำของเจ้าหน้าที่ควบคุมกำกับขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นอย่างเคร่งครัด
  2. ข้อปฏิบัติขณะปฏิบัติงาน
    • ปฏิบัติงานด้วยความระมัดระวัง คำนึงถึงความปลอดภัย และการป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อโรค เลือกใช้อุปกรณ์เก็บมูลฝอยที่มีด้ามจับ เพื่อลดการสัมผัสกับมูลฝอยโดยตรง
    • หากถุงมือชำรุดเสียหายมีรอยรั่วให้เปลี่ยนถุงมือคู่ใหม่
    • ควรงดพูดคุยระหว่างปฏิบัติงาน
  3. ข้อปฏิบัติหลังการปฏิบัติงาน
    • เมื่อเสร็จจากการปฏิบัติงานแล้วให้ถอดอุปกรณ์ป้องกันอันตรายส่วนบุคคล ได้แก่ ถุงมือยางหนา แว่นป้องกันตา ผ้ายางกันเปื้อน หน้ากากผ้าหรือหน้ากากอนามัย และรองพื้นยางหุ้มแข้ง ตามลำดับ และล้างมือทุกครั้งที่ถอดอุปกรณ์ป้องกันอันตรายส่วนบุคคล ส่วนอุปกรณ์ป้องกันอันตรายส่วนบุคคลชนิดใช้ครั้งเดียวให้ทิ้งลงในถังมูลฝอยที่มีฝาปิด ส่วนรองเท้าเท้าพื้นยางหุ้มแข้ง แว่นตาป้องกันตา ผ้ายางกันเปื้อน ให้แช่ลงใน 5,000 ppm sodium hypochlorite นาน 30 นาที จากนั้นล้างแล้วนำไปผึ่งแดดให้แห้ง
    • ชำระล้างร่างกายให้สะอาด เปลี่ยนเสื้อผ้า ก่อนออกจากพื้นที่ปฏิบัติงานหรือก่อนกลับบ้าน

 คำแนะนำการจัดการมูลฝอยสำหรับประชาชน

  1. รับรู้และตระหนักถึงการจัดการมูลฝอยที่ถูกต้อง มีส่วนช่วยป้องกันและลดการแพร่กระจายของเชื้อโรคไปยังผู้อื่นและชุมชน
  2. จัดเตรียมภาชนะรองรับหรือถุงขยะให้เพียงพอ แยกตามประเภทมูลฝอย และสำหรับประชาชนทั่วไปให้คัดแยกมูลฝอยในครัวเรือนเป็น 3 ประเภท ดังนี้
    • มูลฝอยทั่วไป เช่น ถุงพลาสติก ภาชนะใส่อาหารแบบใช้ครั้งเดียว เป็นต้น ให้เก็บรวบรวมนำไปทิ้งลงถังที่มีฝาปิดมิดชิด เพื่อรอให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเก็บขนไปกำจัดอย่างถูกต้องต่อไป
    • มูลฝอยรีไซเคิล เช่น ขวดแก้ว ขวดพลาสติก เป็นต้น ให้เก็บรวบรวมไว้ก่อนและรอจัดการในภายหลัง
    • มูลฝอยที่เป็นพิษหรืออันตรายจากชุมชน เช่น ภาชนะบรรจุน้ำยาฆ่าเชื้อ ขวดน้ำยาล้างห้องน้ำ กระป๋องสเปรย์ เป็นต้น ให้เก็บรวบรวมไว้ในภาชนะรองรับ เพื่อรอให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเก็บขนไปกำจัดอย่างถูกต้องต่อไป
    • ทั้งนี้ ให้นำมูลฝอยแต่ละประเภทไปทิ้งในจุดรวบรวมมูลฝอยที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจัดเตรียมไว้ หรือตามที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นกำหนด
  3. กรณีมีผู้ที่แยกสังเกตอาการที่บ้าน ให้แยกจัดการมูลฝอยจากครัวเรือน โดยดำเนินการดังนี้
    • มูลฝอยทั่วไป เช่น ถุงพลาสติก ภาชนะใส่อาหารแบบใช้ครั้งเดียว ขวด เป็นต้น ในแต่ละวันให้เก็บรวบรวมใส่ถุงขยะ มัดปากถุงให้แน่น และนำไปทิ้งลงในถังมูลฝอยที่มีฝาปิดมิดชิด เพื่อรอให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเก็บขนไปกำจัดอย่างถูกต้องต่อไป
    • มูลฝอยประเภทปนเปื้อนน้ำมูก น้ำลาย สารคัดหลั่ง เช่น หน้ากากอนามัย กระดาษทิชชู เป็นต้น ในแต่ละวันให้เก็บรวบรวมและทำลายเชื้อโดยใส่ถุงขยะ 2 ชั้น โดยถุงขยะใบแรกที่บรรจมูลฝอยแล้วให้ราดด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อหรือน้ำยาฟอกขาว จากนั้นมัดปากถุงให้แน่น แล้วซ้อนด้วยถุงขยะอีก 1 ชั้น มัดปากถุงให้แน่นอีกครั้ง นำไปทิ้งรวมกับมูลฝอยทั่วไปหรือเก็บรวบรวมแยกไว้เฉพาะตามที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นกำหนด
    • ทั้งนี้ ให้นำมูลฝอยแต่ละประเภทไปทิ้งในจุดรวบรวมมูลฝอยที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจัดเตรียมไว้หรือตามที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นกำหนด
  4. ภายหลังจัดการมูลฝอยแล้วล้างมือให้สะอาดด้วยน้ำและสบู่ หรือเจลแอลกอฮอล์ทันที
  5. สอดส่อง แนะนำบุคคลในครอบครัวและเพื่อนบ้าน เพื่อให้มีการคัดแยกมูลฝอยหรือการปฏิบัติที่ถูกต้องหากพบว่ามีการจัดการที่ไม่ถูกต้องอาจใช้กลไกของชุมชน เช่น อสม. ผู้ใหญ่บ้าน หรือแจ้งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในพื้นที่ เพื่อทำความเข้าใจแนวทางปฏิบัติตามที่กำหนด ทั้งนี้ เพื่อป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อโรค

ลงวันที่ 26 มีนาคม 2563

กองส่งเสริมความรอบรู้และสื่อสารสุขภาพ กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข

เลขที่ 88/22 ถ.ติวานนท์ ต.ตลาดขวัญ อ.เมือง จ.นนทบุรี

Email prnews@anamai.mail.go.th

โทรศัพท์ 0-2590-4053

ติดตามกรมอนามัย

เรามีสาระสุขภาพดีๆ ส่งตรงถึงอีเมลคุณทุกสัปดาห์

Subscription

© DEPARTMENT OF HEALTH : MINISTRY OF PUBLIC HEALTH

ดาวน์โหลด eBook สุขภาพ

แหล่งข้อมูลความรู้เกี่ยวกับสุขภาพพร้อมให้คุณดาวน์โหลดไปศึกษาฟรี!