กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข แนะประชาชนหรือร้านอาหารที่ทำอาหารกล่องให้กับผู้ป่วย แพทย์ พยาบาล และเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานในโรงพยาบาลสนามต่างๆ ต้องใส่ใจความสะอาดและหลีกเลี่ยงการปรุงอาหารไว้ล่วงหน้านานเกิน 4 ชั่วโมง เพราะจะทำให้อาหารบูดเสียได้
นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า ประชาชนหรือร้านอาหารที่ปรุงประกอบอาหารกล่องเพื่อแจกจ่ายให้กับผู้ป่วย แพทย์ พยาบาลและเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานในโรงพยาบาลสนามต่าง ๆ ขอให้เน้นย้ำเรื่องความสะอาดเป็นพิเศษ เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาโรคจากอาหารเป็นพิษหรือท้องเสียได้ วัตถุดิบที่ใช้ต้องมีคุณภาพ สด สะอาด โดยการปรุงประกอบทุกครั้งต้องล้างวัตถุดิบให้สะอาดก่อนนำมาปรุง ผู้ประกอบอาหารต้องสวมผ้ากันเปื้อน หมวกคลุมผม ตัดเล็บสั้น ไม่ใช้มือหยิบจับอาหาร สวมหน้ากากผ้าหรือหน้ากากอนามัยตลอดเวลาที่ปรุงประกอบอาหาร รวมทั้งภาชนะบรรจุอาหารต้องสะอาด ปลอดภัย และงดใช้โฟมบรรจุอาหาร ส่วนอาหารที่ปรุงประกอบเน้นการปรุงให้สุกด้วยความร้อน และแยกข้าวกับกับข้าวไม่ปะปนกัน ไม่วางข้าวกล่องที่บรรจุเสร็จแล้วตากแดดหรือวางบนพื้น ควรเขียนวันเวลาที่ผลิตไว้เพื่อความปลอดภัยในการบริโภค และสิ่งที่ต้องระมัดระวังเป็นพิเศษคือการทำอาหารไว้ล่วงหน้าไม่ควรนานเกิน 4 ชั่วโมง เพราะจะทำให้อาหารบูดเสียได้
“ทั้งนี้ อาหารกล่องที่แจกจ่ายนั้น ควรเป็นอาหารที่ไม่บูดเสียง่าย กินได้ง่าย เช่น ข้าวเหนียวหมูทอด ข้าวเหนียวไก่ทอด ควรเพิ่มผลไม้เป็นอาหารว่าง เช่น ส้ม กล้วย หรือชมพู่ หลีกเลี่ยงอาหารที่ประเภทยำหรืออาหารที่ปรุงโดยไม่ผ่านความร้อนหรือปรุงแบบสุก ๆ ดิบ ๆ อาหารที่มีกะทิเป็นส่วนประกอบ สำหรับผู้ที่นำอาหารกล่องมาส่งควรสวมหน้ากากผ้าหรือหน้ากากอนามัยตลอดเวลา และล้างมือด้วยสบู่และน้ำ หรือ เจลแอลกอฮอล์ก่อนและหลังส่งอาหารกล่องทุกครั้ง รวมทั้งผู้รับเมื่อได้รับแจกข้าวกล่องแล้ว ก่อนกินต้องล้างมือให้สะอาดและสังเกตอาหารนั้นมีกลิ่นผิดปกติหรือบูดเสียหรือไม่” อธิบดีกรมอนามัย กล่าว
***
ศูนย์สื่อสารสาธารณะ/ 30 เมษายน 2564