กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข เผยอากาศร้อนจัด ลดเวลาให้เด็กทำกิจกรรมกลางแจ้ง เพื่อป้องกันโรคลมร้อน หรือโรคฮีทสโตรก (Heat Stroke) พร้อมแนะพ่อแม่ ผู้ปกครองควรดูแลเด็กอย่างใกล้ชิด
นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย เปิดเผยว่า ข้อมูลจากกรมอุตุนิยมวิทยาประกาศประเทศไทยเริ่มเข้าสู่ฤดูร้อน เมื่อวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2564 และคาดว่าจะสิ้นสุดกลางเดือนพฤษภาคม 2564 โดยมีอุณหภูมิสูงสุดของแต่ละวันมากกว่า 35 องศาเซลเซียส ซึ่งคาดการณ์ผลกระทบต่อสุขภาพได้ว่าอากาศที่ร้อนอบอ้าวอาจทำให้เสี่ยงต่อการเจ็บป่วยได้ง่าย โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยง เช่น เด็กเล็ก ที่อยู่กลางแดด เป็นเวลานาน หรือออกไปทำกิจกรรมต่าง ๆ กลางแจ้งในช่วงอากาศร้อน ก็จะทำให้เด็กสูญเสียน้ำและเกลือแร่ในร่างกายจากความร้อนได้ง่าย เนื่องจากร่างกายของเด็กยังไม่สามารถปรับตัวต่ออุณหภูมิที่สูงขึ้นได้เท่ากับผู้ใหญ่ และอาจจะทำให้เสี่ยงต่อการเป็นโรคลมร้อน หรือโรคฮีทสโตรก (Heat Stroke) ได้เช่นกัน โดยอาการ ที่พบได้ทั่วไปคือ ผิวหนังแดงและแห้ง ตัวร้อนจัด เหงื่อไม่ออก สับสน มึนงงหรืออาจหมดสติ หากไม่ได้รับการปฐมพยาบาลทันที อาจเสียชีวิตได้ภายในไม่กี่ชั่วโมง ดังนั้น เมื่อต้องออกนอกบ้านในช่วงที่มีอากาศร้อน พ่อแม่ ผู้ปกครองควรดูแลเด็กอย่างใกล้ชิด ให้เด็กสวมเสื้อผ้าสีอ่อน มีน้ำหนักเบา ระบายความร้อนได้ดี แต่หากอากาศร้อนจัด ควรหลีกเลี่ยงการพาเด็กไปทำกิจกรรมกลางแจ้ง ถ้าจำเป็นควรสวมหมวกปีกกว้าง สวมเสื้อ แขนยาว กางเกงขายาว ทาครีมกันแดด กางร่มให้กับเด็ก ๆ และติดตามข่าวสารพยากรณ์อากาศ อุณหภูมิสูงสุดรายวันด้วย
“สำหรับโรงเรียนหรือศูนย์เด็กเล็ก ควรลดเวลาทำกิจกรรมกลางแจ้งในช่วงเวลาที่อากาศร้อนจัด โดยเฉพาะช่วงเวลา 11.00–15.00 น. ควรทำกิจกรรมในร่มและเป็นพื้นที่เปิด อยู่ในบริเวณที่มีอากาศถ่ายเทได้ดี เช่น ใต้อาคารเรียน หรือสถานที่ที่มีเครื่องปรับอากาศ ให้เด็กดื่มน้ำสะอาดบ่อย ๆ โดยไม่ต้องรอให้กระหายน้ำ เพื่อป้องกันการขาดน้ำ ที่สำคัญ อย่าปล่อยให้เด็กอยู่ในรถที่จอดตากแดดตามลำพังโดยเด็ดขาด เนื่องจากรถที่จอดตากแดดโดยไม่เปิดเครื่องปรับอากาศ อาจมีอุณหภูมิสูงถึง 50 องศาเซลเซียส ซึ่งอาจทำให้เสียชีวิตได้ และหากพบคนไม่สบายหรือต้องการความช่วยเหลือ ให้รีบแจ้งเจ้าหน้าที่สาธารณสุข หรือติดต่อสายด่วนช่วยชีวิต 1669” อธิบดีกรมอนามัย กล่าว
***
ศูนย์สื่อสารสาธารณะ / 18 มีนาคม 2564