กรมอนามัย ชี้ ประโยชน์อาหารกลางวันคุณภาพ ช่วยสร้างพัฒนาการวัยเรียน ต้านโรค

  • 17 มิถุนายน 2562

กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข ชี้ประโยชน์ของอาหารกลางวันที่มีคุณภาพและได้มาตรฐานโภชนาการแก่เด็กในวัยเรียน ช่วยให้ร่างกายเจริญเติบโตสมวัย มีพัฒนาการด้านการเรียนรู้ จดจำ และเสริมสร้างภูมิต้านทานโรค

      

         แพทย์หญิงอัมพร เบญจพลพิทักษ์  รองอธิบดีกรมอนามัยและโฆษกกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า จากกรณีที่สื่อสังคมออนไลน์เผยแพร่ข่าวรัฐบาลมีคำสั่งยกเลิกโครงการอาหารกลางวันในโรงเรียนประถมศึกษาทั่วประเทศ ซึ่งไม่เป็นความจริงนั้น โดยโครงการดังกล่าวยังคงดำเนินการเหมือนเดิม เนื่องจากเด็กวัยเรียนควรได้กินอาหารกลางวันที่มีคุณค่าทางโภชนาการครบถ้วน เพื่อให้ได้สารอาหารจากคาร์โบไฮเดรต โปรตีน ไขมัน วิตามิน แร่ธาตุและเกลือแร่อย่างเหมาะสม ช่วยให้ร่างกายเจริญเติบโต มีพัฒนาการด้านการเรียนรู้ จดจำ เสริมสร้างภูมิต้านทานโรค และสามารถทำกิจกรรมต่างๆได้เป็นปกติ เพราะหากร่างกายได้รับพลังงานและสารอาหารน้อยไปจะส่งผลให้เด็กมีการเจริญเติบโตไม่เหมาะสมตามวัย เช่น ตัวเล็ก เตี้ย แคระแกร็น ภูมิต้านทานต่ำ สติปัญญาต่ำ เรียนรู้ช้า เป็นต้น และหากได้รับพลังงานมากเกินความต้องการของร่างกาย จะส่งผลให้เด็กมีน้ำหนักตัวเกินจนนำไปสู่การเป็นโรคอ้วน และโรคอื่นๆ ซึ่งส่งผลเสียต่อร่างกายได้ ดังนั้น  จึงควรส่งเสริมให้เด็กวัยเรียนได้รับสารอาหารในปริมาณที่เหมาะสมกับความต้องการของร่างกายเพื่อการเจริญเติบโตและสุขภาพที่ดี

         แพทย์หญิงอัมพร กล่าวต่อไปว่า กลุ่มอาหารที่เด็กวัยเรียนควรจะได้รับ ได้แก่ 1. อาหารประเภทเนื้อสัตว์ เพราะเป็นสารอาหารที่ให้โปรตีนช่วยเสริมสร้างกล้ามเนื้อ เนื้อเยื่อ และฮอร์โมน ควรเลือกเนื้อสัตว์ที่ไม่ติดมัน เพื่อเป็นการปลูกฝังนิสัยการบริโภคที่ดีให้แก่เด็ก 2. นม เป็นผลิตภัณฑ์ที่ให้โปรตีนและแคลอรี่สูง นอกจากนี้ยังมีแคลเซียมวิตามินเอมาก เหมาะสำหรับเด็กที่กำลังเจริญเติบโต เด็กจึงควรได้ดื่มนมให้ได้วันละ 2 แก้วทุกวัน 3. ข้าวหรือแป้งต่าง ๆ ควรจัดให้เด็กในทุกมื้ออาหาร เลือกข้าวหรือแป้งที่ผ่านการขัดสีน้อย เพราะจะมีวิตามินและแร่ธาตุมาก 4. ผักและผลไม้สด ควรให้เด็กบริโภคในมื้ออาหารทุกมื้อ และควรสับเปลี่ยนชนิดให้หลากหลาย เพื่อให้เด็กได้รับวิตามินและแร่ธาตุครบถ้วน โดยเฉพาะวิตามินซี และ 5. เด็กควรดื่มน้ำสะอาด วันละ 6-8 แก้ว หรือให้เพียงพอกับปริมาณที่สูญเสียไปในแต่ละวัน

         “ทั้งนี้ พ่อแม่ ผู้ปกครอง และโรงเรียน ถือเป็นส่วนหนึ่งที่สามารถช่วยส่งเสริมให้เด็กในวัยนี้มีโภชนาการที่ดีอย่างเหมาะสมได้ด้วยการจัดอาหารที่มีคุณภาพและได้มาตรฐานโภชนาการ โดยเฉพาะอาหารกลางวัน เพราะเด็กอาจจะเลือกกินอาหารที่ไม่เหมาะสมต่อร่างกาย ดังนั้น จึงควรจัดอาหารให้เด็กครบ 5 หมู่ หากเป็นอาหารจานเดียวถ้าเมนูที่เป็นผัดด้วยน้ำมันจะต้องจัดคู่กับผลไม้ หรือของหวานที่เป็นกะทิไม่ควรจัดคู่กับอาหารที่เป็นอาหารมัน มีข้าวสวยเป็นหลักจัดร่วมกับกับข้าวอีก 1 อย่าง หรืออาจจัดเป็นอาหารจานเดียวประเภทเส้นต่างๆ รวมทั้งเนื้อสัตว์ให้ในปริมาณที่เพียงพอและเป็นเนื้อย่อยง่ายสลับหมุนเวียนกันไปให้มีผักเป็นส่วนประกอบในอาหารทุกมื้อ ใช้เกลือหรือน้ำปลาผสมไอโอดีนในการปรุงอาหาร อาหารว่างประเภทขนมปัง  ที่มีไส้ ควรเลือกไส้ที่มีเนื้อสัตว์ เช่น ขนมปังไส้ไก่หยอง ขนมไทยควรเลือกขนมที่มีส่วนประกอบของถั่วต่างๆ เช่น ขนมถั่วแปบ ถั่วเขียวต้มน้ำตาล โดยมีรูปแบบการจัดชุดอาหารกลางวันหมุนเวียน 5 วันทำการต่อสัปดาห์ ซึ่งด็กวัยเรียนจำเป็นต้องกินอาหารมื้อหลัก 3 มื้อ ได้แก่ มื้อเช้า มื้อเที่ยง มื้อเย็น และเพิ่มอาหารว่าง 2 มื้อ คือ อาหารว่างเช้าและบ่าย โดยเป็นอาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการ ไม่หวานจัด เค็มจัด หรือไขมันสูง” รองอธิบดีกรมอนามัย กล่าวในที่สุด

***

ศูนย์สื่อสารสาธารณะ/  15  มิถุนายน 2562

© DEPARTMENT OF HEALTH : MINISTRY OF PUBLIC HEALTH