สถานการณ์ฝุ่น PM 2.5 ในปัจจุบันที่สูงมากขึ้น เราอาจคิดว่าการรับมือกับฝุ่นคงเหมือนกันทุกช่วงวัย แต่จริง ๆ แล้ว ฝุ่นละอองกับเด็กมีผลกระทบต่อสุขภาพมากกว่าผู้ใหญ่ เนื่องจากระบบภูมิคุ้มกันและปอดยังพัฒนาไม่เต็มที่ ทั้งเด็กยังมีอัตราการหายใจมากกว่าผู้ใหญ่ ทำให้มีโอกาสหายใจเอาฝุ่นเข้าสู่ร่างกายได้มากกว่าผู้ใหญ่
นอกจากนี้ พฤติกรรมการใช้ชีวิตของเด็กมักใช้เวลาทำกิจกรรมอยู่นอกอาคารและยังเคลื่อนไหวมาก เช่น วิ่งเล่น ปีนป่าย โดยเฉพาะเด็กที่อยู่ในพื้นที่ที่มี PM2.5 สูง เช่น ริมถนน ใกล้โรงงานที่ปล่อยมลพิษ หรือพื้นที่ เผาขยะ จะยิ่งมีความเสี่ยงเพิ่มขึ้น รวมถึงจากกิจกรรมภายในบ้าน เช่น การจุดธูป การปรุงอาหารโดยใช้ เตาปิ้งย่าง ฟืน หรือถ่านหุงต้มอาหาร ก็ส่งผลกระทบต่อสุขภาพของเด็กได้
เมื่อฝุ่นเข้าสู่ร่างกายอาจก่อให้เกิดโรคหอบหืด โรคปอดอักเสบ โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง รวมถึงโรคระบบหัวใจและหลอดเลือด อีกทั้งยังมีผลต่อพัฒนาการของระบบประสาท ทำให้ระดับสติปัญญาลดลงและมีแนวโน้มทำให้เกิดโรคที่เกี่ยวกับพัฒนาการด้านพฤติกรรม เช่น ออทิสติก โรคสมาธิสั้น รวมทั้งมีผลต่อการพัฒนาด้านจิตใจและกล้ามเนื้อของเด็ก ทั้งยังอาจทำให้เกิดการเจ็บป่วยแบบเรื้อรังตลอดช่วงชีวิตหรือเป็นโรคมะเร็งได้
สำหรับเด็กที่มีโรคประจำตัว ได้แก่ โรคหอบหืด โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง โรคหัวใจและหลอดเลือด ควรเตรียมยา อุปกรณ์ ที่จำเป็นให้พร้อม และปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์ให้ครบถ้วนด้วยนะคะ
สำคัญอย่าลืมเช็คค่าฝุ่นในทุกวันก่อนออกจากบ้าน และเช็คค่าฝุ่นในพื้นที่ ๆ จะไปด้วยนะคะ เพื่อเตรียมตัวป้องกันตัวเราเองจากฝุ่น PM 2.5 ค่ะ
ด้วยความรักและห่วงใย ใส่ใจประชาชน อยากให้คนไทยสุขภาพดี จาก กรมอนามัย
อย่าลืมกดติดตาม Facebook กรมอนามัย เพื่อติดตามซีรีย์สาระสุขภาพจากเรานะคะ
ติดตามค่าฝุ่นได้ที่ http://air4thai.pcd.go.th/
#แม่และเด็ก #วัยเรียนวัยรุ่น