นายแพทย์อรรถพล แก้วสัมฤทธิ์ รองอธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า จากรายงานของกรมควบคุมมลพิษ วันที่ 8 มีนาคม 2567 พบว่า สถานการณ์ PM2.5 อยู่ในระดับที่มีผลกระทบต่อสุขภาพ (สีแดง) ในจังหวัดภาคเหนือตอนบนอย่างต่อเนื่องใน 9 จังหวัด ได้แก่ เชียงราย เชียงใหม่ ลำปาง ลำพูน แม่ฮ่องสอน น่าน แพร่ พะเยา และตาก โดยสถานการณ์มีค่าฝุ่น PM2.5 สูงสุดเท่ากับ 163.2 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ในพื้นที่ตำบลเมืองนะ อำเภอเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่ เนื่องมาจากสภาพอุตุนิยมวิทยาประกอบกับพบจุดความร้อนในประเทศมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น ซึ่งสามารถส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชน โดยจากการเฝ้าระวังการเจ็บป่วยด้วยโรคที่เกี่ยวข้องกับการรับสัมผัสมลพิษทางอากาศ พบผู้ป่วยมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น โดยปี 2567 จากข้อมูลของระบบคลังข้อมูลสุขภาพ Health Data Center (HDC) มีอัตราป่วยด้วยโรคที่เกี่ยวข้องกับมลพิษทางอากาศกว่า 2,644 ต่อแสนประชากร โดยส่วนใหญ่เป็นการเจ็บป่วยในกลุ่มโรคระบบทางเดินหายใจ รองลงมา คือ กลุ่มโรคผิวหนังอักเสบ และกลุ่มโรคตาอักเสบ
นายแพทย์อรรถพล กล่าวต่อไปว่า กรมอนามัย จึงแนะนำวิธีทำห้องปลอดฝุ่น เพื่อเป็นการป้องกันตนเอง โดยปิดประตู หน้าต่างให้มิดชิด ป้องกันอากาศภายนอกเข้าไปในห้อง เพิ่มประสิทธิภาพการลดฝุ่น
ในห้อง เช่น การใช้เครื่องฟอกอากาศ กำจัดอนุภาคของฝุ่นละอองที่อยู่ภายในห้อง หรือใช้เครื่องเติมอากาศ เพื่อเติมอากาศสะอาดเข้าไปให้ห้อง ซึ่งควรอุปกรณ์ดังกล่าวควรมีขนาดที่เหมาะสมกับห้อง หากเป็นบ้านที่มี
รูรั่วหรือมีช่องลมจำนวนมาก อาจใช้มุ้งสู้ฝุ่น โดยใช้มุ้งผ้าฝ้าย และใช้เครื่องเติมอากาศ ส่งอากาศสะอาดเข้ามุ้ง ซึ่งช่วยลดปริมาณฝุ่นได้เช่นเดียวกัน ทั้งนี้ ประชาชนสามารถมาใช้บริการห้องปลอดฝุ่น ซึ่งกระทรวงสาธารณสุขได้ให้หน่วยบริการสาธารณสุขจัดเตรียมห้องปลอดฝุ่นให้บริการเพื่อลดโอกาสรับสัมผัสมลพิษทางอากาศจากฝุ่น PM 2.5 จำนวนทั้งหมด 2,690 ห้อง ใน 41 จังหวัด สนับสนุนให้ศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก สถานศึกษาและสถานที่เอกชนจัดเตรียมห้องปลอดฝุ่นอีกกว่า 1,000 ห้องทั่วประเทศ หรือสอบถามรายละเอียดได้ที่โรงพยาบาลใกล้บ้าน เจ้าหน้าที่สาธารณสุขในพื้นที่ หรือ ค้นหาห้องปลอดฝุ่นใกล้บ้าน สามารถดูข้อมูลห้องปลอดฝุ่นและมุ้งสู่ฝุ่นได้ที่เว็ปไซต์ https://podfoon.anamai.moph.go.th
“สำหรับประชาชนกลุ่มเสี่ยง โดยเฉพาะเด็กเล็ก ผู้สูงอายุ ผู้ที่มีโรคระบบทางเดินหายใจ ต้องดูแลตนเองเป็นพิเศษในพื้นที่ที่มีค่าฝุ่นสีแดง ขอให้งดการทำกิจกรรมกลางแจ้ง หากต้องออกภายนอก ให้สวมหน้ากากป้องกันฝุ่น โดยเลือกหน้ากากที่มีขนาดที่เหมาะสมกับใบหน้าและสวมใส่ให้กระชับ หากรู้สึกอึดอัดอาจเข้าไปในอาคารและถอดหน้ากากก่อน และหากสีของหน้ากากเปลี่ยนสีไปจากเดิมหรือฉีกขาดให้เปลี่ยนหน้ากากชิ้นใหม่ทันที หากมีอาการรุนแรงให้รีบไปพบแพทย์ หรือใช้บริการพบแพทย์ของคลินิกมลพิษในสถานพยาบาลใกล้บ้าน หรือผ่านแอพพลิเคชั่น DMS Telemedicine ของกรมการแพทย์ได้” รองอธิบดีกรมอนามัย กล่าว
***
กรมอนามัย / 8 มีนาคม 2567