กรมอนามัย แนะ นักวิ่งมาราธอนเตรียมร่างกายให้พร้อมก่อนแข่ง ย้ำผู้จัดงานยึดปฏิบัติตามคู่มือสหพันธ์สมาคมกรีฑานานาชาติ

  • 7 พฤษภาคม 2562

             #ANAMAINEWS กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข แนะนำนักวิ่งมาราธอนเตรียมร่างกายให้พร้อมก่อนแข่ง และย้ำให้ ผู้จัดงานปฏิบัติตามแนวทางและมาตรฐานการจัดงานวิ่งตามคู่มือการจัดกิจกรรมวิ่งประเภทถนนของสหพันธ์สมาคมกรีฑานานาชาติ

              แพทย์หญิงพรรณพิมล วิปุลากร อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า กรมอนามัยสนับสนุนให้ประชาชนทุกเพศ ทุกวัย มีกิจกรรมทางกายในชีวิตประจำวัน โดยการวิ่งมาราธอนเป็นหนึ่งในรูปแบบการมีกิจกรรมทางกาย ซึ่งมีการออกแบบให้มีการวิ่งต่อเนื่องในระยะทางไกล นักวิ่งจำเป็นต้องเตรียมร่างกายให้พร้อมก่อนแข่ง ผ่านการฝึกซ้อมอย่างเป็นระบบ เพื่อให้ร่างกายมีการปรับตัวให้พร้อมกับกิจกรรมทางกายที่มีความเข้มข้นสูงและระยะเวลานาน หากร่างกายไม่พร้อมจะทำให้เกิดผลกระทบต่อระบบไหลเวียนโลหิตและหายใจ รวมทั้งระบบกล้ามเนื้อ โดยจะมีอาการหน้ามืด หายใจไม่ออก แน่นหน้าอก เจ็บกล้ามเนื้อ รวมถึงหมดสติ   และหัวใจหยุดเต้นได้ นักวิ่งจึงควรเตรียมตัวและอุปกรณ์ป้องกันแสงแดด เช่น หมวก แว่นตากันแดด ครีมกันแดด ไว้กับตัวด้วย

              แพทย์หญิงพรรณพิมล กล่าวต่อไปว่า การวิ่งมาราธอนในระดับโลกนั้น สหพันธ์สมาคมกรีฑานานาชาติ (International Association of Athletics Federations: IAFF)  ได้จัดทำมาตรฐานการจัดกิจกรรมวิ่งประเภทถนน โดยเน้นที่การออกแบบการแข่งขัน ทั้งการวางเส้นทาง ความปลอดภัย จัดให้มีน้ำดื่มและอาหาร สิ่งอำนวยความสะดวกกับผู้เข้าร่วมการแข่งขัน สำหรับในส่วนของประเทศไทยพบว่าได้มีการนำมาพัฒนาต่อยอดโดยคณะกรรมการมาตรฐานการจัดงานวิ่งไทย ด้วยการสนับสนุนจากสมาพันธ์    ชมรมเดิน-วิ่ง เพื่อสุขภาพไทย สสส. และสมาคมกีฬากรีฑาแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ตั้งแต่ปี  พ.ศ. 2557 และปรับปรุงในปี พ.ศ. 2562 ซึ่งในคู่มือได้ระบุการจัดกิจกรรมวิ่งประเภทถนนไว้ชัดเจนว่าการจัดการแข่งขัน วิ่งมาราธอนต้องมีหน่วยแพทย์ รถพยาบาล ประจำตลอดการแข่งขัน รวมถึงจุดปฐมพยาบาลตลอดเส้นทางการแข่งขัน โดยเฉพาะตำแหน่งที่มีความเสี่ยงสูงว่าอาจมีผู้บาดเจ็บ หรือตำแหน่งที่ยากต่อการเข้าไปช่วยเหลือผู้บาดเจ็บนำส่งโรงพยาบาล      

              “นอกจากนี้ จุดบริการปฐมพยาบาลหลักควรมีเครื่องมือและบุคลากรเทียบเท่ากับจุดให้บริการทางการแพทย์หลังเส้นชัย   จุดบริการปฐมพยาบาลระดับรองลงไปควรตั้งอยู่คู่กับจุดให้น้ำ เพื่อปฐมพยาบาลและช่วยให้นักวิ่งคลายความไม่สบายกายเล็กๆน้อยๆ เช่น อาการพองและเสียดสี และเพื่อขนย้ายผู้ป่วยที่มีอาการหนักไปยังสถานที่ซึ่งมีอุปกรณ์รองรับที่เหมาะสมต่อไป โดยควร   มีจุดบริการปฐมพยาบาลทุก 5 กิโลเมตร และตั้งอยู่ในระยะประมาณ 100 เมตร หลังจากจุดให้น้ำ ทั้งนี้ ขอให้ผู้จัดงานวิ่งมาราธอนได้ยึดถือแนวทางปฏิบัติตามคู่มือสหพันธ์สมาคมกรีฑานานาชาติอย่างเคร่งครัดเพื่อความปลอดภัยของผู้เข้าร่วมกิจกรรม” อธิบดี       กรมอนามัย กล่าวในที่สุด

***

ศูนย์สื่อสารสาธารณะ / 7 พฤษภาคม 2562

© DEPARTMENT OF HEALTH : MINISTRY OF PUBLIC HEALTH