กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข ยันผลการตรวจระบบการกำจัดมูลฝอยติดเชื้อของโรงพยาบาลขอนแก่น เป็นไปตามมาตรฐานของหลักวิชาการและหลักกฎหมายตามพระราชบัญญัติการสาธารณสุข พ.ศ. 2535
นายแพทย์อรรถพล แก้วสัมฤทธิ์ รองอธิบดีกรมอนามัย เปิดเผยว่า จากเหตุประชาชนร้องเรียนกลิ่นรบกวนที่เกิดจากระบบกำจัดมูลฝอยติดเชื้อด้วยเทคโนโลยีการทำลายเชื้อด้วยไอน้ำของโรงพยาบาลขอนแก่น ซึ่งเทศบาลนครขอนแก่นได้ตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง และให้กรมอนามัยเป็นหน่วยงานกลางในการตรวจสอบมาตรฐานระบบกำจัดมูลฝอยติดเชื้อฯและปัญหาเหตุรำคาญ สำหรับการตรวจสอบเหตุรำคาญนั้นได้ใช้หลักการวินิจฉัยเหตุรำคาญ 3 องค์ประกอบ ตามมาตรา 25 ของกฎหมายว่าด้วยการสาธารณสุข คือ แหล่งกำเนิด (Source) ช่องทางของมลพิษ (Pathway) และประชาชนผู้ได้รับผลกระทบ (Receptor) ผลการตรวจสอบ พบว่า 1) แหล่งกำเนิด พบว่าระบบกำจัดมูลฝอยติดเชื้อของโรงพยาบาลฯ มีขั้นตอนกระบวนการกำจัดมูลฝอยติดเชื้อซึ่งก่อให้เกิดสารเคมีที่มีกลิ่นหลายชนิดจริง และยังพบข้อบกพร่องด้านสุขลักษณะของระบบรวบรวมอากาศเสีย และระบบบำบัดมลพิษทางอากาศที่มีประสิทธิภาพไม่เพียงพอ ส่งผลให้ 2) ช่องทางของมลพิษ คือ กลิ่นที่เกิดจากระบบกำจัดมูลฝอยติดเชื้อแพร่กระจายออกไปยังอาคารที่พักอาศัยของประชาชนที่อยู่อาศัยในบริเวณใกล้เคียงประมาณ 2-3 เมตร และสภาพอากาศที่ทิศทางลมยังพัดกลิ่นมายังที่พักอาศัยของประชาชนข้างเคียง
“และ 3) ประชาชนผู้ได้รับผลกระทบ โดยหลักการจะทำการตรวจวัดคุณภาพอากาศและกลิ่นรบกวนที่บ้านหรือที่พักอาศัยของประชาชนผู้ได้รับผลกระทบเพราะกฎหมายมีวัตถุประสงค์เพื่อคุ้มครองประชาชนผู้ได้รับผลกระทบ และนำค่าผลการตรวจวัดที่ได้เทียบเคียงกับมาตรฐานที่เกี่ยวข้อง การตรวจวัดใช้ 3 วิธีคือ วิธีที่ 1 การตรวจวัดกลิ่นรบกวน เป็นการตรวจวัดค่าระดับความเข้มข้นกลิ่นด้วยเครื่องมือตรวจวัดกลิ่นในบรรยากาศภาคสนาม (Nasal Ranger) ทำการตรวจวัด ในบริเวณหรือสถานที่ที่ประชาชนร้องเรียนและเป็นช่วงเวลาที่ผู้ร้องแจ้งว่าได้รับกลิ่นเป็นประจำ ตรวจวัดในขณะที่มีกลิ่นอย่างน้อย 3 ครั้ง ห่างกันอย่างน้อย 15 นาที และนำค่ามาเทียบกับค่ามาตรฐานระดับกลิ่นรบกวนของสถานที่ทั่วไป เช่น ที่พักอาศัยหรือชุมชน ซึ่งต้องมีค่าความเข้มข้นน้อยกว่า 4 หน่วยกลิ่น (D/T) และบริเวณจุดที่ทำการตรวจวัดมีค่าระดับความเข้มข้นกลิ่นเท่ากับ 7, 7, 7 และ 4 D/T ซึ่งสูงกว่าค่ามาตรฐานกลิ่นรบกวนตามคำแนะนำของคณะกรรมการสาธารณสุข บ่งชี้ว่าอาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพหรือส่งผลกระทบต่อความเป็นอยู่โดยปกติสุขของประชาชน วิธีที่ 2 การตรวจวัดชนิดและปริมาณสารอินทรีย์ระเหยง่ายภาคสนามด้วยเทคนิค Gas Chromatograph ซึ่งเป็นเครื่องมือตรวจวัดทางวิทยาศาสตร์ที่ได้มาตรฐานและมีการสอบเทียบเป็นประจำทุกปี ตรวจวัดจำนวน 4 ครั้ง พบสารประกอบอินทรีย์ระเหยง่ายมีค่าเฉลี่ยอยู่ในช่วง 0.19 – 4.99 ppm และยังตรวจพบสาร Acrolein ซึ่งเป็นสารเคมีที่ทำให้เกิดกลิ่น (Odorant) ที่มีลักษณะกลิ่นคล้ายกลิ่นคาวปลา มีค่าความเข้มข้นอยู่ในช่วง 0.02 – 0.22 ppm บ่งชี้ถึงความเสี่ยงและอันตราย ต่อสุขภาพของประชาชน และวิธีที่ 3 การตรวจระดับความแรงกลิ่นภาคสนามโดยคณะเจ้าหน้าที่ โดยการใช้แบบบันทึก ข้อมูลการสํารวจกลิ่นภาคสนาม (Odor Survey Record) พบว่า คณะผู้ตรวจสอบจำนวนเกินกว่ากึ่งหนึ่งรับรู้ความแรงของกลิ่นในระดับ 4-5 คือ เป็นกลิ่นที่น่ารังเกียจและทำให้บุคคลใดๆ มีแนวโน้มหลีกเลี่ยงการสูดดมและเป็นกลิ่นที่มีแนวโน้ม จะก่อให้เกิดผลกระทบต่อร่างกายระหว่างการสัมผัสในระยะสั้นหรือระยะยาว และทำให้ผู้สัมผัสทนไม่ได้ โดยคณะผู้ตรวจสอบกลิ่นทุกคนได้รับการขึ้นทะเบียนผู้ตรวจสอบกลิ่นตามมาตรฐานวิชาการ” รองอธิบดีกรมอนามัยกล่าว
นายแพทย์อรรถพล กล่าวในตอนท้ายว่า การดำเนินการดังกล่าวประกอบด้วยเจ้าหน้าที่ของกรมอนามัย เจ้าหน้าที่ของเทศบาลเมืองศิลาซึ่งมิได้เกี่ยวข้องและมีส่วนได้ส่วนเสียในกรณีนี้ รวมทั้งเจ้าหน้าที่ของเทศบาลนครขอนแก่น และผลการตรวจวัดทั้ง 3 วิธี มีความสอดคล้องกัน ที่บ่งชี้ว่ากระบวนการกำจัดมูลฝอยติดเชื้อของโรงพยาบาลขอนแก่น ส่งผลกระทบต่อความเป็นอยู่โดยปกติสุขของประชาชนและมีแนวโน้มจะก่อให้เกิดผลกระทบสุขภาพของประชาชน หากมีการรับสัมผัสในระยะยาว จึงขอความร่วมมือโรงพยาบาลขอนแก่น หยุดดำเนินการกำจัดมูลฝอยติดเชื้อทันทีจนกว่าจะมีการปรับปรุงแก้ไขให้ได้ตามมาตรฐานและได้รับความเห็นชอบให้ดำเนินการกำจัดมูลฝอยติดเชื้อด้วยตนเองจากราชการส่วนท้องถิ่นตามกฎหมาย และต้องไม่ก่อปัญหาเหตุรำคาญ เพื่อความปลอดภัยของสุขภาพประชาชนบริเวณใกล้เคียง
***
กรมอนามัย / 1 กันยายน 2566