เตือน ฝนคะนองเสี่ยงฟ้าผ่า แนะเลี่ยงอยู่พื้นที่โล่งแจ้ง งดใช้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์

  • โดย ศูนย์สื่อสารสาธารณะ
  • 21 พฤษภาคม 2561
กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข เตือน ช่วงฝนตกหนักเสี่ยงฟ้าผ่าได้ เพื่อความปลอดภัยควรงดใช้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่เป็นสื่อเหนี่ยวนำไฟฟ้า และหลีกเลี่ยงอยู่ในบริเวณพื้นที่โล่งแจ้ง

นายแพทย์ดนัย ธีวันดา รองอธิบดีกรมอนามัย เปิดเผยว่า การก่อตัวของพายุฝนฟ้าคะนอง เป็นสาเหตุหลักทำให้เกิดฟ้าผ่า และนำภัยอันตรายมาสู่ชีวิตได้ ประชาชนจึงต้องรู้จักวิธีป้องกันตนเองและ ลดความเสี่ยงจากการถูกฟ้าผ่าได้ โดยขณะเกิดฝนฟ้าคะนองให้หลีกเลี่ยงการอยู่ในที่โล่ง เช่น ทุ่งนา สนามฟุตบอล สระว่ายน้ำ สนามกอล์ฟ หากเลี่ยงไม่ได้ ต้องไม่อยู่ใกล้ที่สูง เช่น ต้นไม้สูง เสาโทรศัพท์ เสาไฟฟ้า ห้ามกางร่มที่มีปลายโลหะยอดแหลม และอย่าถือวัตถุที่ชูสูงขึ้นไปจากตัว เช่น เบ็ดตกปลา ไม้กอล์ฟ เป็นต้น ห้ามใช้โทรศัพท์มือถือ เนื่องจากมีวัสดุจำพวกโลหะเป็นส่วนประกอบ ทำให้เกิดการเหนี่ยวนำคลื่นไฟฟ้า มีผลให้แบตเตอรี่เกิดการลัดวงจรและระเบิดได้ รวมถึงอุปกรณ์ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์อื่นๆ ด้วย และถอดวัตถุหรือเครื่องประดับที่เป็นโลหะออกจากร่างกาย ถ้าหากหลบอยู่ในรถยนต์ ให้จอดรถห่างจากต้นไม้ใหญ่ ตึกสูง เสาไฟฟ้าหรือป้ายโฆษณาขนาดใหญ่ ดับเครื่องยนต์ ปิดกระจก และอย่าสัมผัสกับส่วนใดส่วนหนึ่งของรถที่เป็นโครงโลหะ ควรนั่งกอดอกหรือวางมือบนตัก เมื่ออยู่ในอาคาร ควรปิดประตูหน้าต่างทุกบาน และอยู่ห่างจากผนังอาคาร ประตูและหน้าต่าง ห้ามใช้โทรศัพท์บ้านหรือเล่นอินเทอร์เน็ต ถอดปลั๊กอุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้าออกให้หมด และดึงเสาอากาศของโทรทัศน์ออกเพื่อป้องกันการเกิดไฟฟ้าลัดวงจร ซึ่งจะเป็นสาเหตุให้เกิดอัคคีภัยหากเกิดฟ้าผ่าลงมาที่บ้าน

“ทั้งนี้ หากพบเห็นผู้ที่ถูกฟ้าผ่า ให้สังเกตบริเวณที่เกิดเหตุว่ายังมีความเสี่ยงต่อการถูกฟ้าผ่าหรือไม่ ถ้ามีให้เคลื่อนย้ายผู้ถูกฟ้าผ่าไปยังตำแหน่งที่ปลอดภัยเพื่อป้องกันตัวจากการถูกฟ้าผ่า โดยสามารถแตะต้องตัวผู้ถูกฟ้าผ่าได้ทันที เนื่องจากคนที่ถูกฟ้าผ่าจะไม่มีกระแสไฟฟ้าหลงเหลืออยู่ในตัวซึ่งต่างจากผู้ที่ถูกไฟฟ้าดูด หรือไฟฟ้าซ็อต รีบโทรแจ้งเหตุสายด่วนช่วยชีวิต 1669 พร้อมให้ข้อมูลสถานที่เกิดเหตุและอาการของผู้ได้รับบาดเจ็บ จากนั้นปฏิบัติตามคำแนะนำเบื้องต้นจากศูนย์รับแจ้งเหตุในการดูแลผู้ได้รับบาดเจ็บระหว่างรอรถฉุกเฉินมารับ กรณีที่ผู้ถูกฟ้าผ่า หมดสติ ไม่พบชีพจรหรือไม่หายใจ จำเป็นต้องทำการนวดหัวใจผายปอดกู้ชีพ หรือซีพีอาร์ (CPR) และรีบนำผู้ได้รับบาดเจ็บส่งโรงพยาบาลโดยเร็ว” รองอธิบดีกรมอนามัย กล่าว

© DEPARTMENT OF HEALTH : MINISTRY OF PUBLIC HEALTH