กรมอนามัย เผย ไทยเข้าสู่ยุคโลกเดือด (Global Boiling) หวั่นกระทบสุขภาพประชาชน

  • 23 สิงหาคม 2566

กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข เผยถึงสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) ของประเทศไทย เพื่อเตรียมรับมือการเข้าสู่ยุคโลกเดือด (Global Boiling) พร้อมแนะประชาชน และกลุ่มเสี่ยงปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เพื่อลดความเสี่ยงต่อสุขภาพ

           นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย เปิดเผยว่า องค์การสหประชาชาติ (United Nations: UN) ได้แจ้งถึงการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) โดยชี้ว่ายุคโลกร้อน (Global Warming) สิ้นสุดลงแล้ว และยุคโลกเดือด (Global Boiling) ได้เริ่มขึ้นแล้ว ซึ่งจากการเก็บข้อมูลอย่างต่อเนื่อง พบว่า ตั้งแต่ปี 2558 – 2565 มีอุณหภูมิเฉลี่ยของโลกร้อนที่สุดเป็นประวัติการณ์ สำหรับภูมิภาคเอเชียพบอุณหภูมิเฉลี่ยในปี 2565 สูงกว่าค่าเฉลี่ย 30 ปีย้อนหลัง ทั้งยังพบว่าอุณหภูมิในมหาสมุทรฝั่งเอเชียมีอัตราร้อนขึ้นเกิน 0.5 องศาเซลเซียสต่อ 10 ปี ซึ่งเร็วกว่าค่าเฉลี่ยทั่วโลกประมาณ 3 เท่า จากสถานการณ์ดังกล่าวอาจส่งผลให้เกิดภัยพิบัติต่าง ๆ เช่น ไฟไหม้ป่า ภัยแล้ง น้ำท่วมฉับพลันเพิ่มขึ้นและรุนแรงมากขึ้นทั้งยังส่งผลกระทบต่อสุขภาพ ไม่ว่าจะเป็นการเจ็บป่วยจากมลพิษทางอากาศและภัยแล้ง การบาดเจ็บและเสียชีวิตจากน้ำท่วม รวมถึงการเสียชีวิตจากสภาพอากาศที่ร้อนจัด นอกจากนี้ องค์การอุตุนิยมวิทยาโลก (World Metrological Organization: WMO) ยังให้ข้อมูลว่า เดือนกรกฎาคมเป็นเดือนที่ร้อนที่สุดและทวีปเอเชียเป็นภูมิภาคที่เสี่ยงต่อภัยพิบัติมากที่สุดในโลก

          นายแพทย์สุวรรณชัย กล่าวต่อไปว่า สำหรับประเทศไทย พบว่า ในปี 2566 มีแนวโน้มอุณหภูมิเฉลี่ยสูงสุดเพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมา 1.5 องศาเซลเซียส โดยเมื่อวันที่ 16 เมษายน 2566 ที่จังหวัดตาก มีอุณหภูมิสูงสุด 44.6 องศาเซลเซียส ซึ่งถือว่าอยู่ในระดับอันตรายมาก (อุณหภูมิสูงสุดมากกว่า 43 องศาเซลเซียส)เมื่อเทียบกับค่าเฝ้าระวังผลกระทบต่อสุขภาพจากความร้อน และคาดว่าจะมีแนวโน้มรุนแรงอย่างต่อเนื่องถึงเดือนเมษายน 2567 เนื่องจากปรากฏการณ์เอลนีโญ นอกจากนี้ องค์การอนามัยโลกยังได้คาดการณ์ว่าประเทศไทยจะมีผู้สูงอายุเสียชีวิตจากความร้อนในอัตรา 58 ต่อแสนประชากร หรือ 14,000 ราย ภายในปี 2623 หรือในอีก 57 ปีข้างหน้า

          “ทั้งนี้ ขอให้ประชาชนเตรียมรับมือและปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ดังนี้ 1) ร่วมมือ ป้องกันไม่ให้สถานการณ์ภาวะโลกเดือดมากกว่าเดิม โดยช่วยกันลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เช่น ลดการใช้พลาสติก ลดการเผาที่ปล่อยมลพิษทางอากาศ ลดการใช้พลังงาน ลดขยะในครัวเรือน และเลือกใช้พลังงานสะอาดหรือพลังงานหมุนเวียน เป็นต้น และ 2) เตรียมปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เช่น หมั่นติดตามสภาพอากาศ หากพบว่ามีสภาพอากาศร้อนขึ้น ควรดื่มน้ำสะอาดบ่อย ๆ สวมเสื้อผ้าที่มีสีอ่อน ระบายอากาศได้ดี แต่หากมีความจำเป็นต้องทำกิจกรรมภายนอกอาคาร ควรสวมเสื้อแขนยาว หมวกปีกกว้าง แว่นตา และทาครีมกันแดด รวมถึงควรงดดื่มสุรา น้ำหวาน น้ำอัดลม สำหรับกลุ่มเสี่ยง ได้แก่ เด็ก หญิงตั้งครรภ์ ผู้สูงอายุ ผู้ที่มีภาวะพึ่งพิงสูง ควรมีผู้ดูแลอย่างใกล้ชิด และเตรียมเบอร์โทรศัพท์ 1669” อธิบดีกรมอนามัยกล่าว

***

กรมอนามัย / 23 สิงหาคม 2566

© DEPARTMENT OF HEALTH : MINISTRY OF PUBLIC HEALTH