กรมอนามัย แนะฝนตก พกร่ม เลือกอาหาร-เครื่องดื่มสุขภาพ

  • 20 มิถุนายน 2566

กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข ห่วงสุขภาพประชาชนในช่วงฤดูฝน โดยเฉพาะคนที่มีร่างกายอ่อนแอ แนะให้ดูแลสุขภาพ โดยเลือกกินอาหาร และดื่มเครื่องดื่มที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย รวมทั้งพกร่มเพื่อป้องกันเปียกฝนและโรคไข้หวัด

        นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า ช่วงหน้าฝนของประเทศไทยจะมีสภาพอากาศที่แปรปรวน บางวันฝนตก บางวันอากาศร้อนอบอ้าว อาจทำให้ร่างกายปรับตัวไม่ทัน ภูมิต้านทานลดต่ำลง โดยเฉพาะเด็ก ผู้สูงวัย และผู้ที่เป็นโรคประจำตัว ซึ่งเป็นกลุ่มเสี่ยง อาจติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจ ส่งผลให้เป็นหวัด มีไข้ ไอ เจ็บคอได้ หากต้องออกไปนอกบ้าน ควรวางแผนการเดินทางและเตรียมตัว พกร่ม เสื้อกันฝน หรือหมวก เพื่อป้องกันไม่ให้เปียกฝน หรือควรเตรียมเสื้อผ้าไว้ผลัดเปลี่ยนในกรณีที่จำเป็นต้องลุยฝน เพราะการอยู่ในสภาพเปียกชื้น หนาวเย็นจะทำให้การรักษาสมดุลต่างๆในร่างกายเสียไป ทำให้เป็นหวัด คออักเสบ หลอดลมอักเสบ หรืออาจเกิดอาการปอดบวมแทรกซ้อนได้ นอกจากนี้ควรหลีกเลี่ยงการลุยน้ำท่วมขัง เพราะอาจเกิดอุบัติเหตุหรือได้รับอันตรายจากสัตว์มีพิษ อีกทั้งน้ำสกปรกเป็นที่มาของเชื้อโรคชนิดต่างๆ และหากต้องเดินย่ำน้ำแต่ละวันเป็นเวลานาน ก็จะยิ่งมีโอกาสป่วยด้วยโรคที่มากับน้ำท่วมมากขึ้น เช่น โรคน้ำกัดเท้า อหิวาตกโรค โรคมือเท้าเปื่อย อันตรายจากเชื้อราต่างๆ เมื่อเข้าบ้าน ควรล้างมือและเท้าให้สะอาดทุกครั้ง

        นายแพทย์สุวรรณชัย กล่าวต่อไปว่า การรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ เป็นอีกหนึ่งวิธีที่ดีในการดูแลสุขภาพเพราะสารอาหารที่มีประโยชน์ จะช่วยให้ร่างกายจะแข็งแรงและมีภูมิต้านทานโรคเพียงพอ โดยเฉพาะช่วงหน้าฝนนี้ ควรกินอาหารให้ครบ 5 หมู่ เสริมด้วยสมุนไพรที่มีฤทธิ์ร้อน เช่น พริกไทยดำ หอมแดง ขิง กระเทียม และขมิ้นเพราะมีสรรพคุณ ช่วยไล่ไอเย็น เพิ่มความอบอุ่นแก่ร่างกาย ส่วนผลไม้ให้เน้นกินผลไม้ที่อุดมไปด้วยวิตามินซีประเภทส้ม ฝรั่ง มะละกอ สตรอเบอร์รี มะขามเทศ และมะขามป้อม จะช่วยเสริมสร้างภูมิต้านทาน ทำให้ร่างกายแข็งแรงมีสุขภาพดี มีภูมิคุ้มกันต่อโรคต่างๆ

          “ทั้งนี้ ช่วงฤดูฝนจะมีทั้งละอองฝนและความชื้น ประกอบกับอากาศร้อนในบางวัน ทำให้ร่างกายเสียเหงื่อได้ง่ายขึ้น การดื่มน้ำเยอะๆ หรือดื่มน้ำอุ่นก็จะช่วยรักษาสมดุลอุณหภูมิในร่างกาย และยังช่วยป้องกันการสูญเสียน้ำจากทางเหงื่อและปัสสาวะที่มากเกินไป เพื่อป้องกันภาวะขาดน้ำจิบควรจิบน้ำให้บ่อยในระหว่างวัน แม้ไม่รู้สึกกระหายน้ำ จะลดปัญหาร่างกายขาดน้ำได้” อธิบดีกรมอนามัย กล่าวในที่สุด

***

กรมอนามัย / 20 มิถุนายน 2566

© DEPARTMENT OF HEALTH : MINISTRY OF PUBLIC HEALTH

ดาวน์โหลด eBook สุขภาพ

แหล่งข้อมูลความรู้เกี่ยวกับสุขภาพพร้อมให้คุณดาวน์โหลดไปศึกษาฟรี!