กรมอนามัย เผยวิธีลดอ้วนช่วงเด็กปิดเทอม คุมเข้มอาหารปรับพฤติกรรมสุขภาพ

  • 23 มีนาคม 2566

 

            #ANAMAINEWS กรมอนามัย เผยวิธีลดอ้วนสำหรับเด็กช่วงปิดเทอม แนะนำ พ่อแม่ ผู้ปกครอง ควรใส่ใจเลือกอาหาร ที่ถูกหลักโภชนาการ และคุมเข้มพฤติกรรมสุขภาพของลูกเป็นพิเศษ หลังพบเด็กไทยกินขนมและดื่มน้ำอัดลมมากขึ้น พร้อมชวนเพิ่มการออกกำลังกาย และพักผ่อนให้เพียงพอ

          นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า ช่วงปิดเทอมเด็กๆ อยู่บ้านมากขึ้น ส่งผลให้พฤติกรรมส่วนใหญ่ของเด็กเปลี่ยนไป จะนอนดึก ตื่นสาย พักผ่อนไม่เพียงพอ เพราะใช้เวลาในการเล่นเกมส์เล่นโทรศัพท์ งดมื้อเช้า เลือกกินขนม น้ำอัดลม น้ำหวาน และมีพฤติกรรมเนือยนิ่งเพิ่มมากขึ้น ส่งผลให้เด็กมีน้ำหนักตัวเพิ่มมากขึ้น และเสี่ยงต่อการเป็นโรคต่างๆ ทั้งนี้ จากรายงานข้อมูลภาวะโภชนาการของกระทรวงสาธารณสุข ปี 2566 เมื่อวันที่ 12 มีนาคม 2566 พบเด็กอายุ 6-14 ปี มีภาวะเริ่มอ้วนและอ้วน ร้อยละ 13.2 และเด็กอายุ 15-18 ปี มีภาวะเริ่มอ้วนและอ้วน ร้อยละ 13.0 ซึ่งเกินกว่าค่าเป้าหมายที่ตั้งไว้ ไม่เกิน ร้อยละ 12.0 และจากข้อมูลในปี 2538 – 2557 พบว่า เด็กไทยติด 1 ใน 3 ของอาเซียนที่มีภาวะน้ำหนักเกิน และมีภาวะเริ่มอ้วนและอ้วนเพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่า อีกทั้ง 1 ใน 2 ของเด็กอายุ 12 ปี ดื่มเครื่องดื่มรสหวานและน้ำอัดลมมากกว่า 2 ครั้งต่อวัน และ 1 ใน 3 ของเด็กไทยกินขนมถุงเป็นประจำทุกวันมากกว่า 2 ครั้ง นอกจากนี้ จากการเก็บข้อมูลยังพบว่า 9 ใน 10 ของเด็กไทยเห็นสื่อโฆษณาอาหารและเครื่องดื่มที่มีน้ำตาล ไขมัน และโซเดียมสูง ซึ่งการเห็นสื่อโฆษณาบ่อยๆ จะกระตุ้นการกินของเด็กทำให้อยากได้ อยากกินตามโฆษณา และมากกว่า 3 ใน 4 ของเด็กไทยที่ไม่เห็นข้อความเตือนในโฆษณาอาหารและเครื่องดื่ม

          นายแพทย์สุวรรณชัย กล่าวต่อไปว่า ช่วงปิดเทอมพ่อแม่ ผู้ปกครอง จึงควรใส่ใจในการดูแลพฤติกรรมสุขภาพของเด็กเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะด้านอาหารและโภชนาการ ควรจัดอาหารให้มีคุณค่าและถูกหลักโภชนาการ ทั้งปริมาณและความเหมาะสมกับวัย ใน 1 วัน ควรกินอาหารที่หลากหลาย และครบ 5 หมู่ ซึ่งเด็กอายุ 6 – 14 ปี ควรได้รับพลังงานเฉลี่ยที่ 1,600 กิโลแคลอรี โดยในแต่ละวันควรกินข้าวหรือแป้ง จำนวน 8 ทัพพี เนื้อสัตว์ จำนวน 6 ช้อนกินข้าว ผัก จำนวน 12 ช้อนกินข้าว นม 2 แก้ว และให้มีผลไม้ 6 – 8 ชิ้นพอดีคำทุกมื้อ อาจชวนเด็กฝึกปรุงอาหารของตนเอง โดยลดหวาน มัน เค็ม หลีกเลี่ยงผลิตภัณฑ์เนื้อสัตว์แปรรูป เช่น ไส้กรอก ลูกชิ้น รวมทั้งเลี่ยงอาหารสำเร็จรูปพร้อมทาน อาหารแช่แข็งพร้อมทาน ควบคุมการซื้อขนมกรุบกรอบ เครื่องดื่มรสหวานจัด น้ำอัดลม ชานมไข่มุก และจัดเตรียมนมรสจืดและผลไม้ที่เด็กๆ ชอบไว้ในตู้เย็นแทน และให้ดื่มน้ำสะอาด 6 – 8 แก้วต่อวัน ที่สำคัญ ควรส่งเสริมให้เด็กมีกิจกรรมทางกาย จนรู้สึกเหนื่อย อย่างน้อย 60 นาทีทุกวัน (สะสมต่อเนื่อง10 นาทีขึ้นไป) เช่น เต้นแอโรบิก วิ่ง ปั่นจักรยาน กระโดดเชือก ทำงานบ้าน งานสวน เคลื่อนไหวร่างกายให้มากขึ้น เพื่อการมีสุขภาพที่ดี และนอนหลับให้เพียงพอวันละ 9- 11 ชั่วโมง (สำหรับเด็กอายุ 6-13 ปี) และ 8 – 10 ชั่วโมง (สำหรับเด็กอายุ 14-17 ปี)

          นอกจากนี้ พ่อแม่ ผู้ปกครอง ยังสามารถเช็คหรือประเมินภาวะโภชนาการของบุตรหลานตนเองได้ด้วยการใช้กราฟอ้างอิงการเจริญเติบโตของเด็กอายุ 6 – 19 ปี  โดยใช้ 2 กราฟ ได้แก่ ส่วนสูงตามเกณฑ์อายุ และ น้ำหนักตามเกณฑ์ส่วนสูง สามารถดาวน์โหลดกราฟได้ที่ https://nutrition2.anamai.moph.go.th/th/kidgraph หรือใช้โปรแกรม Nutritional Status Calculator for Thai Children and Adolescents (NutStatCal) ตามลิงก์ https://nutstatcal.kiddiary.in.th/” อธิบดีกรมอนามัย กล่าวในที่สุด

            ***            

กรมอนามัย /  23 มีนาคม 2566

© DEPARTMENT OF HEALTH : MINISTRY OF PUBLIC HEALTH