กรมอนามัย เผย คุณค่าทางโภชนาการอาหารระดับสตรีทฟู้ด ปาท่องโก๋-ชาไทย

  • 2 มีนาคม 2566

 

         #ANAMAINEWS กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข เผยจากกรณีที่ TasteAtlas จัดอับดับอาหารท้องถิ่นทั่วโลก และประกาศให้ ปาท่องโก๋ เป็นอันดับ 5 ของหวานสตรีทฟู้ดที่ดีที่สุดของโลก รวมถึงจัดอันดับเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์อย่างชาไทย ชาเย็น หรือชาสีส้ม ติดอันดับ 7 เครื่องดื่มที่อร่อยที่สุดในโลก พร้อมแนะนำวิธีการกินอาหารระดับสตรีทฟู้ด

          นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า ปาท่องโก๋ นอกจากจะติดอันดับของหวานสตรีทฟู้ดแล้ว จากข้อมูลสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ ปี 2559 ยังระบุว่าปาท่องโก๋ เป็นอาหารยอดนิยมของคนไทย ในหมวดกลุ่มเบเกอรีและอาหารว่างอีกด้วย แต่สำหรับคุณค่าทางโภชนาการ โดยสำนักโภชนาการ กรมอนามัย พบว่า ปาท่องโก๋ 100 กรัม ให้พลังงานถึง 441 กิโลแคลอรี มีคาร์โบไฮเดรต 40.56 กรัม ไขมัน 27.79 กรัม ปาท่องโก๋ 1 คู่ขนาดกลาง จะมีน้ำหนักประมาณ 30 กรัม จึงให้พลังงานประมาณ 132 กิโลแคลอรี คาร์โบไฮเดรต 12 กรัม ไขมัน 8 กรัม ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับขนาดว่าตัวเล็กหรือตัวใหญ่ ปาท่องโก๋เป็นขนมที่มีคาร์โบไฮเดรตและไขมันอิ่มตัว รวมทั้งให้พลังงานสูง เหมาะผู้ที่ต้องการเพิ่มพลังงาน แต่ก็มีโซเดียมจากผงฟูหรือเกลือปรุงรสสูงด้วย จึงไม่เหมาะกับผู้ที่เป็นไทรอยด์เป็นพิษ และโรคความดันโลหิตสูง นอกจากนี้ ปาท่องโก๋ส่วนใหญ่จะนิยมใช้น้ำมันทอดซ้ำ ซึ่งก่อให้เกิดสารโพลาร์ที่อาจก่อให้เกิดมะเร็ง ดังนั้น วิธีกินปาท่องโก๋แบบไม่อ้วนและครบถ้วนคุณค่า จึงควรเลือกปาท่องโก๋ที่ใช้น้ำมันใหม่ในการทอด สังเกตได้จากสีที่เป็นน้ำตาลอ่อน  และไม่ควรกินเกิน 2 คู่ต่อวัน อาจกินพร้อมโจ๊ก ไข่ต้ม เพื่อให้ร่างกายได้รับโปรตีน หรือ กินกับผลไม้ไม่หวานจัด น้ำเต้าหู้ชนิดไม่หวาน เพิ่มธัญพืช เช่น ถั่วแดง เม็ดแมงลัก ข้าวบาร์เล่ย์ หรือลูกเดือย เพื่อเพิ่มใยอาหารช่วยดักจับไขมัน และเลี่ยงการกินปาท่องโก๋แบบจิ้มกับดิปปิ้งอื่นๆ

          นายแพทย์สุวรรณชัย กล่าวต่อว่า ชาไทย หรือ ชาเย็น 1 แก้ว ปริมาณ 200 มิลลิตร ให้พลังงานประมาณ 430 กิโลแคลอรี ขึ้นอยู่กับสูตรของแต่ละร้าน มีคาร์โบไฮเดรต 69 กรัม ไขมัน 15 กรัม น้ำตาล 53 กรัม หรือประมาณ 13 ช้อนชา เพราะเสน่ห์ของชาไทยจะใส่นมข้นหวาน น้ำตาลหรือนมสด เพื่อให้มีกลิ่นหอม รสชาติกลมกล่อม จากการสำรวจพฤติกรรมด้านสุขภาพของประชากร ปี 2564 พบว่า ประชากรอายุ 6 ปีขึ้นไป บริโภคเครื่องดื่มชง (ชา กาแฟ น้ำหวาน ชานม) สูงถึงร้อยละ 26.3 และ กลุ่มอายุ 45-59 ปี  ดื่มเครื่องดื่มชงมากที่สุด ร้อยละ 34.8 ทั้งนี้ ในแต่ละวัน ร่างกายไม่ควรได้รับน้ำตาลที่มากเกิน 6 ช้อนชา ดังนั้น หากดื่มบ่อยหรือเป็นประจำทุกวัน จะทำให้เกิดความเสี่ยงโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง อาทิ เบาหวาน หลอดเลือดสมองและหัวใจ มะเร็ง ความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง และโรคอ้วนลงพุงได้ วิธีดื่มชาไทยแบบใส่ใจสุขภาพ คือ ควรสั่งแบบหวานน้อย ไม่เกิน 2 ช้อนชา รวมทั้งความหวานอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็น น้ำตาล นมข้น น้ำผึ้ง น้ำเชื่อม หรือไซรัปในเครื่องดื่มชงเย็นทุกประเภท ไม่เกิน 2 ช้อนชาเช่นเดียวกัน

       “ทั้งนี้ การกินมื้อเช้าที่ดีต่อสุขภาพควรหลีกเลี่ยงอาหารเช้าแบบเร่งด่วนที่ให้พลังงานสูงเกินไปหรือผ่านการทอดซ้ำๆ เช่น การกินปลาท่องโก๋จิ้มนมข้นหวานกับเครื่องดื่มชาเย็น ควรรับประทานมื้อเช้า ให้ครบ 5 หมู่ เน้นคาร์โบไฮเดรตเชิงซ้อน หรืออาหารประเภทแป้งที่ไม่ผ่านกระบวนการขัดสี ที่ยังคงคุณค่าของสารอาหารไว้ เช่น ข้าวกล้อง ขนมปังโฮลวีต เพราะมีใยอาหารสูง ช่วยรักษาระดับน้ำตาลในเลือดทำให้รู้สึกอิ่มนาน กินคู่กับไข่ต้มหรือเนื้อไก่ที่ไม่ใช้น้ำมันในการปรุงมากเกินไปก็จะได้รับโปรตีนเพิ่มเติม รวมถึงผักผลไม้อาทิ มะเขือต่างๆ หอมหัวใหญ่ กระเทียม ถั่วเหลือง แอปเปิล ฝรั่ง ส้ม มะละกอ เพื่อเพิ่มใยอาหารและวิตามินที่สำคัญ อย่าลืมออกกำลังกายเพื่อเผาผลาญพลังงานควบคู่กันไปด้วย” อธิบดีกรมอนามัย กล่าว

***

กรมอนามัย / 2 มีนาคม 2566

© DEPARTMENT OF HEALTH : MINISTRY OF PUBLIC HEALTH